พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

  • Q คัลเซียมในหลอดเลือด
    18-09-2016 17:18:02

    เกิดจากสาเหตุใดและรักษาได้ไหมคะ


    18-09-2016 18:27:03

    แคลเซียม ความจริงแล้ว เกาะได้หลายที่ เช่น สมอง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ หรือชั้นใต้ผิวหนัง 

    แคลเซียมที่เกาะในหลอดเลือด (artherosclerosis) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะน้ำตาลสูง ไขมันในเลือดสูงหรือความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดอุดตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก อวัยวะต่างๆ ขาดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาตีบ เป็นต้น

    วิธีป้องกัน/รักษา

    - รักษาระดับ น้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิตให้ปกติ

    - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

    - งดสูบบุหรี่

  • Q AKI on top CKD
    17-09-2016 20:27:50

    AKI on top CKD คืออะไรเหรอค่ะ


    17-09-2016 22:46:33

    AKI ย่อมาจากคำว่า acute kidney injury แปลว่า ไตเสื่อมเฉียบพลัน

    CKD ย่อมาจากคำว่า chronic kidney disease  แปลว่า ไตเสื่อมเรื้อรัง (ไตวายระยะต้น)

    AKI on top CKD หมายถึง ไตเสื่อมเฉียบพลัน ในคนที่มีไตวายเรื้อรังระยะต้นอยู่แล้ว ส่งผลทำให้ไตวายมากขึ้น รุนแรงขึ้นและรักษายากกว่าปกติค่ะ บางคนอาจต้องรักษาด้วยการฟอกไตฉุกเฉินค่ะ


  • Q คุณแม่ทานอาหารไม่ได้ครับ
    16-09-2016 12:24:20

    คุณแม่ผมเป็นมะเร็งที่ปอด รักษาอยู่กับโครงการวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดี รักษาด้วยการกินยาครับ หลังจากที่รักษาปอดอยู่ประมาณเกือบ 1 ปี มาเจอมะเร็งที่เต้านมและทำการผ่าตัดออกไปแล้วครับ หลังจากที่เจอมะเร็งที่เต้านมสภาพจิตใจก็แย่ลงและช่วงหลังมานี้แม่ไม่สามารถทานอะไรได้เลย กลืนอะไรไม่ค่อยจะลง ผมเลยไปหาอาหารเสริมประเภทน้ำมาให้แม่ลองทานครับแม่ผมเป็นเบาหวาน ความดันและกรดไหลย้อนด้วย ผมให้แม่ดื่มกลูโซน่า ดื่มเข้าไปก็ท้องเสีย เลยลองเปลี่ยนยี่ห้อเป็นโปรชัว ก็ยังท้องเสียเช่นเดียวกันครับ ผมอยากปรึกษาคุณหมอว่า ผมควรจะบำรุงแม่ด้วยอาหารอย่างไรดีครับเพราะผมไม่มีความรู้เรื่องโภชนาการเลย ขอบพระคุณมากครับ


    16-09-2016 14:41:36

    ผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับยาเคมีบำบัด ควรรับประทานอาหารที่มีพลังงานเพียงพอ สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปรุงอาหารให้ร้อน (เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ) อาหารควรมีหลากหลายชนิด ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีแรงต่อสู้กับโรคและยาเคมีบำบัดที่มีฤทธิ์แรง 

    - รับประทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย โดยเน้นประเภทต้มและนึ่งให้สุก เช่น ข้าวต้ม ขนมปัง เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ มันฝรั่งบด นมปั่น ผักต้มสุก ซุป โยเกิร์ต 

    - เลี่ยงของมัน ของทอด อาหารรสจัด หรืออาหารที่มีกลิ่นแรง 

    - หากผู้ป่วยมีอาหารคลื่นไส้อาเจียนหรือเจ็บปาก เนื่องจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด แนะนำให้รับประทานน้อยๆ แต่บ่อยๆครั้ง เคี้ยวอาหารช้าๆ 

    - ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน 

    -----> หากเบื่ออาหาร ให้ดื่มนม ซุปใสๆ หรืออาจเป็นไอศครีมที่ไม่มีน้ำตาลมากนัก (โลวชูการ์: low sugar) เพื่อให้มีรสอร่อยและน่าทานมากขึ้น

    ----> ส่่วนเรื่องท้ิองเสีย ปวดท้อง ท้องอืด หรือมีลมในกระเพาะ อาจเกิดจาก ลำไส้ขาดน้ำย่อยแลคโตส ในการย่อยน้ำตาลชนิดนี้ ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ได้ยาเคมีบำบัด/ยาปฏิชีวนะ หรือได้รับการฉายแสงบริเวณท้อง แนะนำปรึกษาแพทย์หาสาเหตุเรื่องท้องเสียด้วยค่ะ อาจต้องนำอุจจาระไปตรวจเพิ่มเติม หาเซลล์ การติดเชื้อหรือพย่ธิ เป็นต้น

    -----> นอกจากนี้ ที่รพ.รามา ยังมีอาจารย์แพทย์ และนักกำหนดอาหารที่เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถสอนปรุงอาหาร แนะนำชนิดอาหาร และคำนวณแคลอรี่ ที่เหมาะกับผู้ป่วยเฉพาะคนได้ค่ะ

  • Q ไอไม่หยุด
    14-09-2016 22:18:54

    ไอไม่หยุดมาประมาณ1เดือนแล้วครับ ไปหาหมอให้เอ็กซเรย์ก็ไม่เจออะไร ไอเป็นแบบแห้งๆ มีเสมหะบ้างแต่ไม่ตลอดครับ


    15-09-2016 08:26:54

    อาการไอเกิดจากสาเหตุได้หลายสาเหตุโดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากโรคปอด ได้แก่ โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ กรดไหลย้อน หรือเกิดจากโรคทางปอดที่ตรวจไม่พบความผิดปกติของเอ็กซเรย์ปอด ได้แก่ หอบหืด 

    อาการไอของคุณ...ที่เป็นมา 1 เดือนยังไม่เฉพาะเจาะจงกับโรคใด แนะนำให้สังเกตอาการต่อร่วมกับตรวจเพิ่มเติมในกรณีดังต่อไปนี้

    1. ไข้ น้ำหนักลด เสมหะมากขึ้น แนะนำตรวจเอ็กซเรย์และเสมหะหาเชื้อวัณโรค

    2. แน่นจมูก มีน้ำมูกใส หรือ กลิ่นเหม็นเหมือนหนอง อาการแย่ลงเมื่อถูกอากาศเย็นหรือสารก่อแพ้ต่างๆ จะสงสัยโรคภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบมากขึ้น

    3. อาการเรอเปรี้ยว แสบจุกกลางอก หลังทานอาหาร สงสัยกรดไหลย้อนแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เช่น ห้ามนอนหลังทานอาหารใหม่ๆ ควรอยู่ในท่าหัวตั้ง,นั่งมากกว่า 2 ชม หลังทานอาหาร, ลดความเสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ การสูบบุหรี่ ชา กาแฟ เป็นต้น

    4. ถ้ามีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่มร่วมกับหายมีเสียงวี๊ด สงสัยโรคหอบหืด หรือโรคของหลอดลมขนาดเล็ก ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคปอด เพื่อตรวจเพิ่มเติมต่อไป

  • Q ไทรอยด์แบบไม่เป็นพิษ
    14-09-2016 20:15:21

    เคยได้รับการตรวจไทรอยด์มา คุณหมอบอกว่าเป็นแบบไม่เป็นพิษค่ะ เป็นมาประมาณ 10 ปี จนปัจจุบันก้อนที่คอค่อนข้างใหญ่ (หยุดการรักษาไปประมาณ 4-5 ปี) คุณหมอบอกว่ามีวิธีที่รักษาได้คือต้องผ่าตัดอย่างเดียวค่ะ จึงอยากทราบผลข้างเคียงหลังจากที่ผ่าตัดดังนี้ค่ะ 1. หลังจากผ่าตัดต้องกินฮอร์โมนไปตลอดชีวิตหรือไม่คะ 2. มีโอกาสกลับมาเป็นอีกมั้ยคะ 3. มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง เช่น อ้วนง่ายขึ้น อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง ฯลฯ


    15-09-2016 07:14:53

    ก้อนที่คอ ชนิดไม่เป็นพิษ หากมีขนาดใหญ่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเซลล์ชนิดไม่ดี (มะเร็ง) ในอนาคต โดยทั่วไปให้เฝ้าระวัง โดยอัลตราซาวน์วัดขนาดก้อนและเจาะตรวจเซลล์ดูทางพยาธิวิทยา หากก้อนมีขนาดโตขึ้น

    วิธีรักษา คือ 

    1. การผ่าตัด

    2. ฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อน แต่ไม่นิยมทำในเมืองไทยเท่าไร

    ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดก้อนไทรอยด์ เหมือนการผ่าตัดทั่วไป เช่น มีแผลเป็น เลือดออก บางรายอาจมีเสียงแหบ หรือแคลเซียมต่ำ (ขึ้นกับขนาดของก้อนที่ถูกตัดออกไป และฝีมือหมอผ่าตัด)

    ส่วนการต้องรับประทานฮอร์โมนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับขนาดของไทรอยด์ที่ตัดออกไป 

    - หากตัดออกไปไม่มาก การทำงานของไทรอยด์ยังปกติ ก็ยังไม่ต้องรับประทานฮอร์โมนเสริม

    - หากผ่าก้อนออกไปมาก เหลือเซลล์ไทรอยด์ไว้น้อย จนเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ การรับประทานฮอร์โมนก็เพียงเสริมให้ร่างกายทำงานปกติ ไม่ได้มีอันตรายอะไร ไม่ได้ทำให้อ้วนหรือมีความต้องการทางเพศลดลงค่ะ

    โอกาสกลับเป็นซ้ำ หลังผ่าก้อนออกไปแล้ว ขึ้นกับเซลล์แต่ละคน แนะนำตรวจต่อเนื่องเป็นระยะ ปีละ1-2 ครั้งตลอดชีวิตนะคะ เพื่อความมั่นใจ

    ขอบคุณค่ะ

  • Q ปลายนิ้วบวม
    14-09-2016 17:58:59

    เวลาจับของเย็นหรืออากาศเย็นจะมีอาการปลายนิ้วบวมเต่ง และแดง(แดงแค่ที่ปลายนิ้ว) แล้วก็รู้สึกเจ็บมากที่บริเวณดังกล่าว อยากทราบว่าอาการที่เป็นอยู่นี้คืออะไร มีวิธีการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวยังไงบ้างคะ


    14-09-2016 18:23:04

    หากเจ็บและคัน เมื่อโดนของเย็น เช่นปลายนิ้ว หู หรือจมูก เป็นการสนองตอบของฮิสตามีนในร่างกาย ถือว่าปกติแต่ หากโดนของเย็นแล้วเจ็บปลายนิิ้ว ปลายนิ้วซีด บางทีซีดขาวสลับแดง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง หรืออายุรแพทย์รูมาติซึม เนื่องจากคิดถึง Raynaud phenomenon ซึ่งอาจต้องหาสาเหตุ เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆดังนั้น ควรให้แพทย์ตรวจเพื่อยืนยัน การวินิจฉัยให้แน่นอนค่ะส่วนการป้องกัน ควรเลี่ยงของเย็น เช่น จับน้ำแข็ง อาบน้ำเย็น แนะนำให้สวมถุงมือถุงเท้า เมื่อต้องไปอยู่ในที่ที่มีอุณภูมิต่ำ และห้ามสูบบุหรี่ค่ะ

  • Q เป็นเก๊าท์ครับ
    23-08-2016 23:59:01

    ผมเป็นเก๊าท์เมื่อ 6 เดือนก่อน กินยาAllopurinolอยู่ครับ ไม่มีอาการอะไรแล้ว แต่หมอบอกว่าให้กินยาคุมไว้ก่อน ผมไม่อยากกินยานานๆครับ มีคนบอกว่าเป็นเก๊าท์ห้ามทานไก่ เลยอยากทราบว่าจริงๆแล้วคนเป็นโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไรบ้างครับ?


    24-08-2016 15:05:23

    โดยปกติ แนะนำรับประทานยาลดกรดยูริค allopurinol เป็นระยะเวลานานๆ เพื่อควบคุมการกำเริบ พิจารณาหยุดยาเมื่อไม่มีก้อนตุ่มผลึกเก๊าต์ตามผิวหนัง หรือไม่มีข้ออักเสบกำเริบเป็นระยะเวลาหลายปี ส่วนการปฏิบัติตัว เพื่อลดสิ่งกระตุ้น ไม่ให้เก๊าต์กำเริบได้แก่ 1. งดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารพูรีน (purine) สูง เช่น อาหารทะเล หอย เนื้อแดงสัตว์ปีกเครื่องในสัตว์และยีสต์ 2. ลดผลไม้รสหวาน และเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุ๊กโตส 3. ลดการดื่มสุรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบียร์ 4. สามารถรับประทานนมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้ ผลไม้ท่ีมีวิตามินซีสูง ได้ เนื่องจากสารพูรีนจากพืชจะเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือดไม่มาก ที่มา: แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลโรคเก๊าต์แห่งประเทศไทย โดยสมาคมรูมาติสซั่ม

  • Q สุขภาพ
    21-08-2016 22:13:27

    อยากทำ detox มีเพื่อนมาขายน้ำยา detox บอกว่าล้างตับล้างไตล้างลำไส้ ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ คือดีงามมาก เลยอยากให้แม่ลองทำ แม่เป็นไขมันเกาะตับ กับเบาหวาน เลยไปลองอ่านใน pantip มา มีคนบอกว่าผลดีเต็มเลย บางคนไขมันขับออกมาตอนถ่ายให้เห็นจะจะ เลยครับ อยากรู้ครับว่าซื้อมาให้แม่ทำดีไหม ได้ผลจริงหรือเปล่า แล้วต้องทำกี่ครั้งถึงจะเห็นผล เห็นเพื่อนบอกว่าทำไปสองวันก็สบายตัวแล้ว รู้สึกสดชื่น มันจริงไหมครับ


    22-08-2016 13:55:09

    ไม่แนะนำให้สวนล้างลำไส้ดีท็อกซ์นะคะ เนื่องจากโดยปกติร่างกายมีกลไกการกำจัดสารพิษอยู่แล้ว หน้าที่หลักโดย ตับและลำไส้ การสวนล้างทำให้แบคทีเรียเจ้าบ้านในลำไส้ทำงานผิดปกติ เกิดปัญหาต่อการย่อยอาหาร เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ นอกจากนี้ อาจมีผลแทรกซ้อนทำให้ลำไส้ทะลุ หรือติดเชื้อจากการสวนได้ (ส่วนการทำสวนล้างแล้วสดชื่น อาจเป็นความรู้สึกส่วนตัวในเรื่องความสบายใจมากกว่า) //แนะนำออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารมีประโยชน์รวมทั้งผักผลไม้ ดีกว่าค่ะ

  • Q วัคซีน
    20-08-2016 21:46:44

    คุณหมอครับ รบกวนสอบถามครับว่า คุณแม่อายุ 67 ปี เป็นเบาหวาน ต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้างครับ ขอบคุณครับ


    21-08-2016 14:14:52

    ความจริงแล้วตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำวัคซีนที่จำเป็นในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคหัวใจ ด้วยกันหลายอย่าง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ บาดทะยัก ไอกรน ปอดบวมนิวโมคอคคัส งูสวัส และหัดเยอรมัน เป็นต้น (ตามรูปแนบ) แต่ ที่จำเป็นและแนะนำให้ฉีดป้องกันมี 2 ชนิด คือ 1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ โดยฉีดปีละครั้ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้ไปฉีดได้ฟรี ตามรพ.รัฐทั่วประเทศ 2. วัคซีนป้องกันปอดบวมเชื้อนิวโมคอคคัส (ฉีดครั้งเดียว หลังอายุ 65 ปี) //พาคุณแม่ไปฉีดป้องกันนะคะ ...ป้องกันดีกว่ารักษา ที่มา- http://www.biogenetech.co.th/healtheducation/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89/ file:///C:/Documents%20and%20Settings/BPK9/My%20Documents/Downloads/adult-vaccine-recommendation-rcpt-final-version.pdf

    user upload image
  • Q ขับถ่ายไม่ดี
    18-08-2016 19:43:48

    สวัสดีค่ะ หนูมีปัญหาการขับถ่ายมาตั้งแต่เด็กๆค่ะ คือไม่ได้ถ่ายทุกวัน หลายๆวัน (3-4 วัน) ถ่ายที ทั้งๆที่เป็นคนออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินไฟเบอร์เยอะมาก ดื่มน้ำเยอะ สุขภาพแข็งแรงมาก กลัวว่าในอนาคตจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ค่ะ...ขอบคุณค่ะ


    18-08-2016 21:35:39

    การขับถ่าย 3-4 วันต่อสัปดาห์ ความจริงแล้วยังไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ (ท้องผูก คือ ถ่ายอุจจาระ <3 ครั้งต่อสัปดาห์) อย่างไรก็ดี ควรสังเกตว่าลักษณะอุจจาระด้วย ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น อุจจาระมีเลือดปน หรือมีขนาดเรียวเล็ก เป็นต้น //หากมีอาการอื่นร่วม ควรพบแพทย์ เช่น น้ำหนักขึ้นหรือลดผิดปกติ ง่วงนอนมาก อ่อนเพลีย บวม ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย เป็นต้น // ข้อแนะนำ รับประทานไฟเบอร์ ผัก ผลไม้ที่มีกากใย ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้ลำไส้เคลื่อนตัว และนั่งอุจจาระด้วยท่าที่ถูกต้องคือนั่งยองๆ งอเข่า หากมีข้อสงสัย แนะนำไปตรวจกับแพทย์ที่รพ.เพิ่มเติมค่ะ

Loading ...
Success