พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

  • Q ปรึกษาเรื่องหลานชายอายุ 5 ขวบ
    19-06-2017 10:51:03

    สวัสดีครับ ผมมีหลาน 2 คน คนแรก อายุ 5 ขวบกว่า อีกคน ประมาณ 2 ขวบ เท่าที่สังเกตุ หลานคนโต เป็นคนที่ชอบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (เช่น เวลาเค้ามีความคิดอะไร เค้าจะชอบคิดว่าใช่เสมอ) และเป็นคนค่อนข้างตั้งมั่น เวลาทำอะไร จะชอบทำให้สำเร็จ จนบางครั้ง ถ้าเค้าทำอะไรไม่สำเร็จ ก็จะรู้สึกผิดหวัง เช่น ถ้าที่โรงเรียนมีกิจกรรมอะไร ก็จะกลับมาซ้อมทำ พอถามเค้า ถ้าเค้าแข่งอะไรแพ้ ก็พูดเหมือนไม่สบายใจ บอกว่าแพ้มา และเป็นคนที่ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น แม้กระทั่งน้องตัวเอง เช่น เวลาทำอะไร เค้าจะชอบบอกว่า เค้าทำได้ แต่น้องทำไม่ได้ ซึ่งคุณแม่ก็พยายามสอน และบอกเค้าทุกครั้ง ว่าคนเราเก่ง หรือถนัดไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย (แต่ไม่รู้เค้าเข้าใจไหม แค่ไหน) หลังๆ ทุกวันจันทร์ เวลาคุณแม่พาไปโรงเรียน เหมือนเค้าก็จะไม่ค่อยอยากไป จะบอกว่า ไม่อยากไปโรงเรียน เหนื่อย ตลอด (ซึ่งก็ยังหาสาเหตุไม่เจอ ไม่รู้ว่าทำไม) อยากปรึกษาคุณหมอว่า อาการเบื้องต้น เป็นอาการปกติทั่วไปของเด็กอายุรุ่นนี้ หรือเปล่าครับ หรือผู้ปกครอง ควรทำอย่างไรต่อ ควรดูแลอะไรเป็นพิเศษไหมครับ ขอบคุณครับ


    20-06-2017 20:20:44

    เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ หรือนิสัยไม่เหมือนกันนะคะ อันนี้เค้ามีข้อดีหลายอย่าง ที่เป็นเด็กมุ่งมั่น แต่อาจยึดที่ความสำเร็จ ในกรณีนี้อาจเกิดจาก เด็กเห็นตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่นคนในครอบครัวให้ความสำคัญกับความสำเร็จ (โดยที่ไม่รู้ตัว) เช่น ชมหรือพูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จ หรือในบ้านมีคนที่เก่งมากๆ

    หมอขอแนะนำให้ลองเริ่มต้น ชมเค้า ที่กระบวนการมากขึ้นค่ะ เช่น แม่ดีใจที่เห็นหนูพยายาม หรือเมื่อเค้าทำไม่ได้ตามที่หวังอาจชวนเค้าคุยถึงข้อดี ของการแพ้ หรือไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ดีเหมือนกันนะ เราจะได้ไม่ต้องเหนื่อยชนะทุกครั้ง 

    เมื่อเด็กๆรู้ว่า คนรอบตัวยอมรับเค้า ที่ไม่ต้องประสบความเร็จก็ได้ เค้าก็จะยอมรับตัวเองที่เป็นอะไรก็ได้ค่ะ

    ส่วนเรื่องที่ไม่อยากไปโรงเรียน อาจต้องมาหาสาเหตุ เช่น การบ้านที่ โรงเรียนเยอะเกินไป คุณครูดุ โดนเพื่อนแกล้ง อยากมีเวลาเล่นมากขึ้น แล้วแก้ไขที่สาเหตุค่ะ 

    ทั้งนี้ถ้ายังมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ดื้อ ก่อกวน อารมณ์รุนแรง ไม่ยอมไปโรงเรียน คงต้องพบจิตแพทย์เด็กเพื่อประเมินโดยละเอียดอีกครั้ง

  • Q ลูกสาวอายุ 11 ใกล้จะ 12 ติดนิสัยโกหกเรื่องไม่ทำการบ้าน
    12-06-2017 12:30:30

    ลูกสาวอายุ 11 ใกล้จะ 12 ติดนิสัยโกหกเรื่องไม่ทำการบ้าน จับได้บ่อยๆว่าโกหก พอดีเขาต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำการบ้าน บางทีแอบพักหน้าจอไปเล่นเกม พอถามก็บอกว่าทำการบ้านอยู่ แต่สังเกตได้ว่าไม่ใช่ และจับได้บ่อยครั้ง พูดดีๆถึงข้อดีข้อเสียของการโกหก ไม่ดีขึ้น ดุแล้วก็ไม่ดีขึ้น สุดท้ายพ่อขู่ว่าถ้าโกหกอีกจะลงโทษหนักขึ้นเรื่อย ตอนนี้ไปถึงขั้นจะจับโกนหัว ทั้งๆที่คุยกันแล้วว่าถึงจะสารภาพว่าเล่นเกม ก็ไม่ได้ลงโทษอะไรรุนแรง แต่ว่าทำไมไม่ยอมพูดตรงๆสักที อย่างมากก็แค่โดนดุ จะทำยังไงดีคะ


    13-06-2017 20:55:23

    เด็กที่โกหกมักเกิดจากความกลัว เช่นกลัวถูกตำหนิ กลัวถูกลงโทษ ถ้าพูดความจริง ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เด็กโกหก ต้องจัดการกับอารมณ์ตัวเองก่อน ว่าถ้าเค้าทำเรื่องที่เราไม่พอใจ แล้วมาเล่าให้ฟังเราจะสามารถจัดการกับอารมณ์หงุดหงิดของเราเองได้ดีมากแค่ไหน

    อย่างเช่นในกรณีนี้ ปัญหาอยู่ที่การที่เด็กไม่ยอมทำการบ้าน แต่ใช้เวลานั้นในการเล่นเกมส์ คงต้องมาช่วยเค้าหาสาเหตุว่าที่เค้าไม่ชอบทำการบ้านเป็นเพราะอะไร เช่น ปัญหาเรื่องการเรียน (การอ่าน เขียน ที่ไม่ทันเพื่อน ) ปัญหาเรื่องอารมณ์ (ภาวะซึมเศร้าในเด็กทำให้เด็กหนีโลกความเป็นจริงไปอยู่ในเกม) 

    ถ้าเราทำความเข้าใจปัญหาของเค้า แสดงความเข้าใจถึงปัญหาที่เค้าต้องเผชิญ ช่วยเค้าแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่การบังคับ ก็จะช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นค่ะ

    ในกรณีนี้หมออยากแนะนำให้ทำความเข้าใจลูกก่อนค่ะ ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับเค้า หรือยังไงหมออยากแนะนำให้ไปตรวจประเมินโดยละเอียดกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอีกครั้งค่ะ

  • Q สงสัยว่าลูกชายเป็นสมาธิสั้น
    02-06-2017 14:06:01

    สวัสดีค่ะคุณหมอ ดิฉันมีเรื่องกลุ้มใจเกี่ยวกับลูกชายค่ะ ตอนนี้อายุ 6 ขวบ 10 เดือน เรียนชั้น ป.2 เขามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าจะเป็นสมาธิสั้น แต่พฤติกรรมบางอย่างที่บ้านกับที่โรงเรียนก็ไม่ตรงกันค่ะ...แต่เป็นพฤติกรรมคล้ายสมาธิสั้นทั้งนั้น ขอเล่าถึงที่บ้านก่อนนะคะ เขาจะชอบเล่นซุกซนกับน้องชายค่ะ พูดเสียงดัง แต่เวลาอาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าวช้ามากค่ะ ถ้าไม่คุมก็เล่น ไม่รีบทำให้เสร็จ เลยทำให้ต้องคุมและถูกเร่งเป็นประจำ แต่ก็ให้เขาทำเองค่ะ การบ้านมาถึงบ้านไม่เคยเอาออกมาทำเอง ไม่พูดภึงไม่ถามหา เวลาแม่พาอ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียนก็หลีกเลี่ยงและขี้เกียจมากค่ะ เวลานั่งอ่านหนังสือจะชอบโยกตัว แม่ต้องบอกไว้ พอเผลอก็ทำอีก เรียกก็บางทีเหมือนไม่ตอบทันที อ่านได่เขียนได้แต่ยงไม่คล่อง บอกอ่านจะไม่อยากอ่าน ชอบวาดรูปมาก เผลอไม่ได้จะหากระดาษวาดรูปตลอดและวาดสวยมากค่ะ...ส่วนที่โรงเรียนครูบอกต้องนั่งคุมถึงจะทำงาน ชอบเหม่อลอยต้องเรียก 2-3 ครั้งจึงจะขานรับ ไม่ซน นิ่งได้ ไม่ตั้งใจฟังครู เผลอไม่ได้ วาดรูป พูดน้อย เคยไปหาหมอตรวจที่ รพ.ไม่เป็น เพราะตอนนั้นอาการที่ ร.ร.ไม่ชัดขนาดนี้ ครูกับทางบ้านตอบไม่ตรงกัน แต่ขึ้น ป.2 มานี้ครูบอกว่าขาดสมาธิเด่นชัดมากค่ะ...ดิฉันพาน้องไปตรวจตอน ป.1 แล้ว ควรไปตรวจซ้ำไหมคะคุณหมอ ขอคำแนะนำด้วยนะคะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ


    03-06-2017 20:20:31

    อาการสมาธิสั้น เป็นได้ 2 อาการหลักๆ คือ

    1. ชนิดอยู่ไม่นิ่ง ซน หุนหัน ผู้ปกครองมักให้ประวัติว่า นั่งนิ่งไม่ได้ ชอบขยับตัวไปมา หรือ ต้องวิ่งปีนป่าย ไปไหนจะเหนื่อยมาก เพราะต้องคอยจับ หรือห้ามตลอด พูดมาก ชอบพูดแทรก ใจร้อน เล่นแรง เหมือนกะแรงไม่ถูก ให้รออะไรจะรอได้ไม่นาน ต้องหาอะไรทำ แต่ถ้าให้อยู่กับสิ่งที่ชอบหรือดึงดูดความสนใจอาจอยู่ได้นาน เช่น ดูการ์ตูน เล่นเกมส์ วาดรูป

    2. ชนิดเหม่อ ผู้ปกครองและครูมักให้ประวัติว่า อยู่โรงเรียน ชอบเหม่อ ทำงานไม่เสร็จ จดงานไม่ทัน ไม่รอบคอบ เขียนตกๆหล่นๆ ถ้าประกบจะทำได้ ที่บ้านผู้ปกครองจะเหนื่อยมากที่ต้องคอยจี้บอกทุกอย่าง ถ้าไม่เตือนก็จะมัวเล่น โอ้เอ้ 

    อาการของเด็กสมาธิสั้น บางคนอาจมีอาการแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บางคนอาจมีทั้งสองกลุ่มอาการ แต่อาการเหล่านี่จะเป็นกับทุกสถานที่

    โรคสมาธิสั้นนี้ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสารสื่อประสาทในสมอง ไม่ได้น่ากลัวอะไรนะคะ มียาที่สามารถช่วยลดอาการดังกล่าวได้

    หมออยากแนะนำให้ไปตรวจประเมินอีกครั้งค่ะ



  • Q กินยาช่วยนอนหลับมากเกินไปไหม
    30-05-2017 23:43:35

    ช่วงปลายปีที่แล้ว คนในครอบครัวป่วย จึงทำให้ดิฉันมีความรู้สึกวิตกกังวล ทั้งรู้สึกกังวลว่าตัวเองจะเป็นโรค ทั้งเป็นห่วงคนที่มีอาการเจ็บป่วยนั้น ความวิตกกังวลมากจนถึงขั้นนอนไม่หลับ ดิฉันเป็นความดันสูงกินยาคุมอยู่เวลานอนไม่หลับหรือนอนน้อยตื่นมาจะไม่ค่อยดี เวียนหัวอาเจียน เลยยิ่งกังวลกับการนอนไม่หลับมากขึ้น ยิ่งกังวลก็ยิ่งไม่หลับ. ช่วงแรกพยายามใช้ยาแก้แพ้หรือยาแก้เมารถช่วยให้หลับ ก็ได้ผลดีแต่ต่อมาก็เหมือนดื้อยาต้องเพิ่มจำนวน พอดีมีคนแนะนำฮอร์โมนช่วยหลับ ฮอร์โมนที่ชื่อว่าเมลาโตนิน จึงทดลอง สั่งซื้อมา 1 กระปุกเป็น melatonin 3 mg ใช้ทานก่อนนอนก็รู้สึกว่าช่วยในการหลับได้ดีหลังจากนั้นจึงพึ่งตัวนี้มาตลอด อยากทราบว่าการใช้ฮอร์โมนตัวนี้ไปนานๆจะมีผลอย่างไรไหม เพราะ 1 กระปุกมีตั้ง 365 เม็ด (เข้าใจว่าจะสามารถกินได้ตลอดทั้งปี) และการนอนไม่หลับใน ผู้หญิงวัย43 ปีเป็นเรื่องของวัยทองได้ไหมคะ


    03-06-2017 20:13:16

    melatonin เป็นสารตามธรรมชาติที่เป็นตัวที่ช่วยในการนอน ซึ่งจะทำงานได้ดีในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง และในคนที่ขาดสารตัวนี้เช่นในผู้สูงอายุ การใช้ต่อเนื่องไม่มีผลให้ติดสารตัวนี้ และไม่เป็นอันตรายอะไร ค่ะ

    การนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะภาวะวิตกกังวล จะยิ่งทำให้ร่างกายตื่นตัว หลั่งสารที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว ซึ่งตรงข้ามกับสารที่หลั่งออกมาในช่วงที่ร่างกายพักผ่อน 

    จึงอยากแนะนำให้ฝึกการผ่อนคลายร่วมด้วยก่อนเข้านอน เช่น การฝึกหายใจช้าๆ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ ดื่มน้ำอุ่นๆ ทำใจให้สบาย ก็จะช่วยให้การนอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    อาการของวัยหมดประจำเดือน พบปัญหาการนอนได้ แต่มักเจอร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ร้อนๆ หนาวๆ หรือ อารมณ์ที่หงุดหงิดง่ายขึ้น ร่วมด้วยได้ค่ะ

  • Q ลูกสาวเป็นBipolar และ PDDNOSค่ะ รักษาตั้งแต่ป.6 ตอนนี้ขึ้นม.4
    22-05-2017 05:55:13

    ลูกสาวเป็นBipolar และ PDDNOSค่ะ รักษาตั้งแต่ป.6 ตอนนี้ขึ้นม.4 มีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคม การเข้ากับเพื่อนมาตลอด มีข้อแนะนำไหมคะ


    22-05-2017 20:56:00

    1. กินยาสม่ำเสมอ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับโรค Bipolar โดยเฉพาะในวัยรุ่น อาจไม่อยากกินยา ซึ่งอาจทำให้อาการกำเริบได้ง่ายขึ้น และยิ่งอาการกลับเป็นซ้ำบ่อยจะยิ่งทำให้อาการเป็นรุนแรงขึ้นค่ะ

    2. นอนให้เป็นเวลา อย่าอดนอน งดการใช้การกระตุ้นระบบประสาทต่างๆ เช่น ชา กาแฟ หรือสุรา

    3. เด็กกลุ่ม PDD (Pervasive Developmental Disorder) จะมีลักษณะหลักคือ ความเข้าใจอารมณ์ หรือ บริบททางสังคม ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมองด้านการแปลความทางสังคม แต่ทั้งนี้สามารถฝึกได้เรื่อยๆ โดยการ

    - สอนให้เด็กรู้จักอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น เมื่อกำลังมีอารมณ์โกรธ สะท้อนอารมณ์เค้า แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธ หรือแม้ว่าแม่เองกำลังมีอารมณ์เสียใจ ก็บอกเค้าว่า ตอนนี้แม่กำลังรู็สึกเสียใจ เพื่อให้สามารถเข้าใจอารมณ์ ณ ตอนนั้นได้

    - สอนวิธีการเข้าหาคนอื่น ในสถานการณ์ที่หลากหลาย อาจใช้การยกตัวอย่างวิธีการพูด และซักซ้อมกัน เพื่อเตรียมไปใช้กับสถานการณ์จริง

    - สอบถามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเค้าที่โรงเรียนเป็นประจำ เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้างลูก เพื่อนเป็นยังไงบ้าง แล้วหนูรู้สึกอย่างไร หนูทำอย่างไร เพื่อให้เค้าได้มีที่ปรึกษา แล้วจะได้เป็นช่องทางในการให้คำแนะนำวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมให้เค้าได้

    - สอนการจัดการกับอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น การจัดการกับความโกรธ

  • Q นอนแล้วฝันตลอด
    05-05-2017 09:15:53

    มีปัญหาการนอนหลับค่ะ พอเวลานอน แล้วจะฝันตลอด รู้สึกตัวตลอด ค่ะ เป็นโรคเกี่ยวกับอะไรค่ะ เป็นมานานแล้วค่ะ เคยกินยาช่วยบ้าง ไม่กล้ากินตลอดกลัวติดค่ะ ตอนนี้ มีโรคเบาหวาน ไขมันพอกตับ นิ่วในถุงน้ำดี แต่เป็นนิดเดียวค่ะ มีเนื้องอกที่มดลูกแต่นิดเดียวเหมือนกัน โรคพวกนี้จะเกี่ยวข้องกันเปล่าคะ


    05-05-2017 17:50:45

    วงจรการหลับตื่นของเราปกติ จะมีช่วงที่หลับลึก กับหลับตื้น สลับกันตลอดทั้งคืนอยู่แล้วค่ะ ในช่วงหลับตื้น หรือ REM ซึ่งเป็นช่วงการนอนที่จะมีการกลอกของตาไปมา กล้ามเนื้อคลายตัว ความฝันที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะเป็นฝันที่เราจำได้ค่ะ โดยเฉพาะยิ่งใกล้เช้าการนอนแบบ REM จะเพิ่มขึ้น ทำให้ตอนตื่นเรารู้สึกว่าฝันเยอะ ถ้าตื่นในช่วงการนอนแบบ REM ก็จะรู้สึกว่าเราฝันเยอะได้ค่ะ

    ปัญหาเรื่องการนอนอาจเกิดจากได้หลายสาเหตุนะคะ เช่น การลุกมาปัสสาวะบ่อย ก็มีผลให้การนอนหลับถูกรบกวน หรือยารักษาโรค เช่น ยาในกลุ่ม metformin ที่ใช้ในการรักษาเบาหวานก็มีรายงานว่าทำให้นอนหลับยากขึ้น รวมถึงฝันมากขึ้นค่ะ 

    ทั้งนี้แนะนำให้แจ้งแพทย์เจ้าของไข้อีกครั้ง เกี่ยวกับปัญหาการนอนที่พบนะคะ ส่วนเรื่องยาที่ช่วยในการนอน มีหลายกลุ่มมาก และมีกลุ่มที่ช่วยให้การนอนดีขึ้นโดยที่ไม่มีการเสพติดค่ะ อย่างเช่น trazodone , mianserine เป็นต้น

  • Q นอนไม่หลับ
    01-05-2017 16:15:28

    นอนไม่หลับมาเป็นเวลานานแล้วค่ะ นับแต่เออรี่รีไทร์ออกจากงานมา ตอนแรกก็ชิวๆ อ่านหนังสือ เล่นเฟส เล่นไลน์ ดูหนัง และโน่นนี่นั่นก่อนนอนมาเรื่อยๆ คิดแต่ว่าไม่ต้องไปทำงานก็ตื่นสายได้ แต่ ณ ตอนนี้ผ่านมา 4 ปีกว่า ก็เริ่มมีปัญหาค่ะคือไม่สามารถนอนหลับได้ตอนเที่ยงคืนซะแล้ว ต้องตีสองสามสี่บางทีตีห้า แล้วใส่บาตร (ไม่บ่อย) แล้วค่อยนอนหลับ ตื่นอีกทีสามสี่โมงเช้า หากนอนดึก(หรือเช้ามืด) บางทีก้อจะตื่นเกือบเที่ยง ปัญหาคือทำอย่างไรวงจรชีวิตในการนอนจะเหมือนเดิมได้คะคุณหมอ..ขอบคุณมากค่ะ


    02-05-2017 07:44:40

    อาการนอนไม่หลับเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการนอน เรียกว่า Initial insomnia เกิดจากได้หลายสาเหตุ เช่น การได้รับสารที่กระตุ้นระบบประสาทบางชนิด เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือยาบางอย่าง , ภาวะวิตกกังวล 

    อาการที่กล่าวมา คือ นอนหลับยากในเวลาที่ต้องการ แต่สามารถหลับได้แต่ช้ากว่าที่ต้องการไปหลายชั่วโมง หลังจากหลับแล้วก็สามารถหลับติดต่อกันได้ยาวและตื่นมาสดชื่นดี ภาวะนี้ใกล้เคียงกับปัญหาการนอน แบบ Delayed sleep phase syndrome เป็นความผิดปกติของการนอนที่เกี่ยวข้องกับวงจรการหลับตื่น (circadian rhythm)

    วิธีแก้ไขเบื้องต้น

    1. ปรับสุขลักษณะการนอน

    - งดเครื่องดื่ม หรือสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน

    - หลีกเลี่ยงการเล่นอุปกรณ์สื่อสาร TV ก่อนนอน

    - จัดห้องนอน ให้เงียบ ไม่มีแสง อุณหภูมิกำลังสบาย

    - รักษาเวลาการเข้านอน และตื่นนอนให้คงที่สม่ำเสมอ

    2. ค่อยๆเลื่อนเวลาเข้านอนให้เร็วขึ้นที่ละน้อย เช่น คืนแรก ตี 1.45 วันที่ 2 ตี 1.30 ไปเรื่อยๆ จนสามารถปรับการนอนได้เป็นปกติ  หรือ ใช้การปรับเวลาเข้านอนให้ช้าลง เช่นตั้งใจนอน ตี 1 ให้ไปนอน ตี 3 แทน และวันถัดไป นอนตี 5 ปรับแบบนี้จนเวลานอนเป็นเวลาที่ต้องการ ซึ่งวิธีที่ 2 อาจเหมาะในกรณีที่สามารถนอนช่วงกลางวันได้ ไม่ได้มีธุระที่ต้องไปทำอะไรในช่วงนั้น

    ถ้ายังไงลองปรับการนอนดูก่อนนะคะ ถ้าลองแล้วอาการไม่ดีขึ้นแนะนำไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นๆอีกครั้งค่ะ หรือไม่แพทย์อาจให้ยาที่ช่วยในการปรับสมดุลการหลับตื่น อย่างเช่นยาในกลุ่ม melatonin เป็นต้น

  • Q คุณพ่อมีอาการหลงลืมและโกรธรุนแรง
    30-04-2017 23:15:58

    คุณพ่อหลงลืมและอารมณ์โมโหง่ายรุนแรง ประมาณเกือบสองปีค่ะ ท่านไม่ยอมรักษาหรือทานอาหารเสริมหรือยาใดๆเลย รพ.ก็ไม่ไปดื้อค่ะ ถ้าเป็นแบบนี้จะต้องทำอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ


    01-05-2017 08:38:03

    ปัญหาอาจแบ่งเป็น 2 กรณีนะคะ

    1. ภาวะหลงลืมในผู้สูงอายุ เกิดจากได้หลายสาเหตุ เช่นภาวะสมองเสื่อม จากโรคความเสื่อมทางสมอง เช่น       อัลไซเมอร์ พาร์คินสัน หรือ โรคทางกายที่ทำให้มีอาการหลงลืม เช่น ภาวะสมองขาดเลือด ไทรอยด์ ซีด การติดเชื้อบางชนิด ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง จาก อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคสมอง หรือ จิตแพทย์ 

    ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม อาจพบอาการร่วมอื่น ทางด้านพฤติกรรม เช่น บุคลิกเปลี่ยนแปลง อารมณ์ฉุนเฉียว หรือซึมเศร้า แยกตัว กังวลกลัว ปัญหาการนอน ได้มากขึ้นค่ะ

    2. การที่ผู้ป่วยไม่ยอมไปโรงพยาบาล อาจเกิดจากได้หลายสาเหตุนะคะ เช่น ความกังวล ( กลัวการเจ็บป่วย , กลัวการพึ่งพา , กลัวเป็นภาระ , กลัวค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ) คิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไรจากภาวะหลงลืม

    หมอแนะนำว่าอาจทำความเข้าใจสาเหตุที่คุณพ่อไม่อยากไปโรงพยาบาลก่อนค่ะ ถ้าไม่ได้อาจบอกคุณพ่อว่า เป็นห่วงเรื่องสุขภาพของพ่อ อยากไปให้ไปตรวจสุขภาพประจำปี แล้วใช้การพูดเชิงขอร้องดูนะคะ

    ญาติที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยที่มีภาวะหลงลืมกับปัญหาอารมณ์คงเหนื่อยเอาการอยู่ หมอเอาใจช่วยนะคะ

  • Q อาการ ADHA ในเด็ก
    28-04-2017 00:22:39

    เรียนคุณหมอสาวิตรี น้องเคยตรวจกับคุณหมอเมื่อตอนอายุ5ขวบกว่า (อ.2) ทำเทส ไม่พบอาการ ADHD/ODD และทำไอคิวเทส (สูง) ช่วงอ.3 ไม่มีปัญหาที่ รร. (ย้ายออกจาก รร.เดิม อ.2) ครูที่ รร. อ.3 เป็นครูอาวุโส มีประสบการณ์การสอนมานาน สามารถรับมือกับน้องได้ และคุมน้องอยู่ จึงได้เลิกหาหมอ ปัจจุบัน น้องอายุ 7 ขวบ (ป.1) ครอบครัวได้ย้าย รร. มาตจว. ครู รร.ใหม่ เห็นพฤติกรรมแล้วว่าน้องก่อกวนห้องเรียน พูดไม่เชื่อฟัง สงสัยว่าน้องจะมีอาการสมาธิสั้น รึ ไฮเปอร์ แม่ได้แจ้งและนำผลการตรวจไปให้ รร.แล้ว แต่ครูก็อยากให้ทานยาเพื่อสงบ ไม่สร้างปัญหา อยู่ที่บ้าน แม่ไม่มีปัญหาใดๆ กับน้อง ทำการบ้านเองได้ พูดอะไรก็ทำ หรือการพาออกไปที่ต่างๆ ก็ปกติ เหตุการณ์ที่ รร. น้องสามารถบอกเล่าได้ว่าทำอะไรผิด รู้ตัวว่าผิดแต่ตั้งใจทำ บางเหตุการ์ณเล่าไม่หมดจงใจปกปิดความผิด เฉไฉออกนอกเรื่อง ถามไปเรื่อยๆ ก็จะบอกมากขึ้นจนแม่รู้ครบ ตั้งใจทำดีได้ 2 วัน อีก 2วันก่อเรื่อง ไม่กลัวการทำโทษที่ รร. (ตัดเวลาพัก 10นาที เหลืออีก 20 นาที ก็ยังมีเวลาไปเล่นได้ บางครั้ง ก็แอบออกไปเล่นเลย น้องเล่าให้ฟัง) ถ้าตั้งใจเรียน ทำคะแนนออกมาดี (ได้สูงสุด) เมื่อทำผิดที่ รร. บางครั้งจะร้องไห้ฟูมฟาย ให้ครูสงสารจะได้ไม่ทำโทษ รึ ลดโทษ (เช่น การพาย้ายห้องไปชั้นอนุบาล ครูสงสารไม่พาไป คราวหน้าก็จะร้องไห้อีก) ซึ่งปกติ อยู่บ้านไม่เคยร้องไห้ถ้าทำผิด รึถูกทำโทษ น้องจะยอมให้ทำโทษ ถ้าได้ตกลงกติกากันไว้ว่าจะลงโทษยังงัย แม่มองว่า บทลงโทษที่ไม่จริงจังของ ครู ทำให้จัดการพฤติกรรมน้องไม่ได้ ครูหวังให้แม่พาหาหมอพึ่งยาจะได้สงบ แม่สังเกตถ้าเป็นครูที่ไม่มีประสบการณ์การสอนมาก่อน มีปัญหาทุกครั้ง ก่อนจะขึ้น ป.1 ที่ รร.ตจว. ต้องเข้า อ.3 เทอม 3 ก่อนพบครูอาวุโส มีประสบการณ์ ก็ไม่มีปัญหา และยังสอนน้องให้อ่านได้ดีขึ้นมาก แม่อยากจะพาน้องไปเช็คอาการอีกสักครั้งคะ รึ มีแนวทางให้ครูทำในการดูแลเด็กที่ถูกทางมากกว่าพึ่งยา ตอนนี้แม่ย้ายมา ตจว. เข้า กทม. ได้แค่เสาร์ อาทิตย์ (วันธรรมดา น้องเรียนคะ ตอนนี้เพิ่งเปิดเทอม) คุณหมอแนะนำได้ไหมคะ ควรจะไปตรวจซ้ำที่ไหน รึ สามารถพบคุณหมอได้ที่ รพ.ไหนคะ (ก่อนจะพบคุณหมอ แม่พาหา รพ.เอกชนหลายแห่ง ให้น้องเรียน ฝึกฟังคำสั่ง ซึ่งครูที่สอนน้องก็บอก น้องฟังคำสั่งดี ดูปกติ หลังจากได้ผลเทสหมอก็เลยเลิกเรียน) จะย้าย รร. อีกก็ไม่ไหวคะ แม่พยายามจับจุดที่น้องแคร์แล้วใช้ในการทำโทษ เช่น การแยกห้องนอน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำ น้องเสียใจร้องไห้ฟูมฟาย แต่ก็ไม่ร้องตามออกมา และก็นอนคะ แม่บอกเค้าว่าจะเป็นคืนสุดท้ายที่แยกห้องนอน ถ้าพรุ่งนี้เค้าเป็นเด็กดีที่ รร. ไม่ก่อเรื่องให้ครู (ก่อนหน้านี้เค้าก็สัญญาหลายรอบล้ะ แต่ก็มีเรื่องตลอด) แต่ถ้าเค้ายังก่อเรื่อง และ รร.ให้ออก เค้าต้องย้ายไป รร.ประจำ ซึ่งเราต้องแยกบ้านกัน (อันนี้ขู่เค้าคะ) น้องสัญญาจะทำให้ได้ ตอนนี้แม่รอดูอยู่คะว่าพรุ่งนี้เป็นยังงัย ดึกขนาดนี้แม่นอนไม่หลับเครียดเรื่องลูก แต่ลูกคนดี หลับสบายไปแล้วคะ รบกวนคุณหมอแนะนำด้วยนะคะ


    28-04-2017 14:45:17

    1. โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD/Attention deficit hyperactivity disorder : ผู้ปกครองหรือคุณครูจะสังเกตเห็นปัญหาพฤติกรรมหรืออาการต่างๆ เหล่านี้

      อาการขาดสมาธิ : ดูไม่ฟังเวลาที่พูดด้วย วอกแวกง่าย เหม่อ ทำงานไม่เรียบร้อย ขาดความเรียบร้อย ขี้ลืม โอ้เอ้

      อาการซน หุนหัน : ยุกยิก นั่งนิ่งไม่ได้ แหย่คนอื่น เล่นแรง เสียงดัง พูดมาก ใจร้อน ไม่รอคอย เล่นแรง เข้ากับคน                    อื่นไม่ค่อยได้

    อาการดังกล่าว อาจจะไม่ได้เป็นครบทุกอาการก็ได้ แต่มีอาการหลายอย่าง (มากกว่า 6 อาการ) จนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเรียน การเข้าสังคม ทั้งนี้อาการเหล่านี้มักเกิดหลายสถานการณ์ เช่น ทั้งที่บ้าน ที่ โรงเรียน ที่เรียนพิเศษ ฯลฯ 

    แต่อาการเหล่านี้ในสถานการณ์ที่มีการลดสิ่งเร้า เช่นการประกบ การเอาจริงเอาจริง จะทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น

    โดยที่อาการเหล่านี้ต้องแยกจากโรคทางกาย เช่น ภาวะชัก ภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ซีด หรือภาวะปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ 

    2. โรคดื้อหรือ ODD/ Oppositional defiant disorder คือ ภาวะที่เด็กมีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ชอบเถียง ท้าทายและมักจะมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิดง่าย ชอบโยนความผิดให้คนอื่น เจ้าคิดเจ้าแค้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดเด็กจะทำกับใครก็ได้(อย่างน้อย 1 คน) อย่างน้อยเกิดปัญหาสัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ครั้ง

    เท่าที่อ่านข้อมูลที่ได้ ขอสรุปประมาณนี้นะคะ

    - เคยประเมิน เมื่อ 3 ขวบ ไม่พบปัญหาทั้ง 2 กรณีข้างต้น(ตอนนั้นไม่มีข้อมูลว่า เพราะเหตุใด คุณแม่ถึงพาลูกไปพบแพทย์)

    - เคยตรวจ IQ สูงมาก(แต่ไม่ทราบว่าเท่าไหร่)

    - มีปัญหากับครู(บางคน)เท่านั้น ที่บ้านไม่เห็นปัญหาพฤติกรรม

    - ที่โรงเรียน(คุณครู) บอกว่ามีพฤติกรรม ก่อกวนไม่เชื่อฟัง 

    - ที่ผ่านมาแม่พยายามปรับพฤติกรรม (ไม่มีข้อมูล ว่า ที่บ้านเกิดปัญหาอะไร ที่ต้องปรับพฤติกรรม)

    คำถามคือ

    - ต้องการพาลูกไปตรวจประเมินซ้ำ ที่ไหนดี

    - จะปรับพฤติกรรมก่อนได้อย่างไร

    หมอแนะนำว่า

    1. อยากให้คุณแม่พาลูกไปตรวจประเมินอีกครั้วค่ะ เพราะ คงต้องหาสาเหตุโดยละเอียดของปัญหาพฤติกรรมของเด็ฏอีกครั้ง คุณแม่หา รายชื่อแพทย์กับ โรงพยาบาล ในเวบเพจ นี้ได้ค่ะ https://www.facebook.com/thaichildpsy/?fref=ts

    2. การปรับพฤติกรรมเด็ก คงต้องเข้าใจสาเหตุก่อนค่ะ ถ้าอย่างไรระหว่างที่ยังไม่ได้พบแพทย์ หมอแนะนำให้คุณแม่บันทึกพฤติกรรมของลูกไว้ก่อนนะคะ

    Antecedant อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

    Behavior พฤติกรรมที่เป็นปัญหาเป็นอย่างไร กับใคร

    Consequence จัดการกับพฤติกรรม นั้นๆอย่างไร

    หมอขอให้กำลังใจคุณแม่นะคะ หมออ่านแล้วเห็นถึงความตั้งใจในการดูแลลูก ของแม่ค่ะ ทุกปัญหามีทางออกเสมอค่ะ

     

  • Q โรคซึมเศร้าและพร่องฮอร์โมนเพศชายครับ
    15-04-2017 16:31:16

    อายุ 39 ครับ คุณหมอจิตเวชวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล(เป็นมานานกว่า4-5ปีแล้ว) และเพิ่งเป็นโรคซึมเศร้าเล็กน้อย(mind depression)(เพิ่งได้รับการวินิจฉัย) อาการตอนนี้คือมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติน้อยลง แต่ยังมีท้องอืดอาหารไม่ย่อย และโรคกระเพาะนิดหน่อยครับ แต่ทางอารมณ์แย่ลงครับคือเบื่อไปหมดทั้งงานทั้งกิจกรรมต่างๆ ไม่อยากทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อยากนอนตลอดแต่กลับนอนไม่หลับ ตื่นกลางคืนแต่หลับไม่ค่อยได้ หงุดหงิดง่าย มีปัญหาการนอนสมองเลยตื้อๆครับ ไม่ค่อยอยากกินอะไร(แต่ให้กินก็กินได้) อาการสี่ห้าอย่างหลังนี่เพิ่งเป็นได้ 1-2 เดือนครับ พอดีมีโอกาสตรวจร่างกายล่าสุดเลยให้คุณหมอตรวจ testosterone ด้วยปรากฎว่าต่ำครับ คุณหมอบอกว่าอาจจะเป็นผลจากความเครียดได้ แต่เท่าที่หาข้อมูลดูการพร่องฮอรโมนนี้ก็สามารถทำให้ซึมเศร้าได้เหมือนกัน อาการก็คล้ายๆกันกับที่เป็น และก็มีวิธีการรักษาเฉพาะในการเพิ่มฮอร์โมนตัวนี้กับคุณหมอทางเดินปัสสาวะ ***คำถามคือควรรักษาอะไรครับโรคซึมเศร้าหรือการพร่องฮอร์โมน testosterone ครับ สับสนไปหมดครับ*** ขอบคุณครับผม


    17-04-2017 09:48:31

    แนะนำว่าให้รักษาภาวะโรคซึมเศร้าก่อนค่ะ โดยทั่วไปจะแนะนำให้รักษาต่อเนื่อง อย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ ด้วยยาขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยทนได้ ถ้าตอบสนองได้ดี อาการดังกล่าวก็จะค่อยๆดีขึ้น แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาเสริมยาชนิดอื่น หรือเปลี่ยนชนิดยาที่ออกฤทธิ์แตกต่างจากตัวเดิม ถ้ายังไม่ตอบสนองยาทั้งสองชนิด แพทย์จึงพิจารณารักษาด้วยวิธีการอื่นเสริมค่ะ เช่น การใช้ยากลุ่มอื่น ( ฮอร์โมน ) หรือ การรักษาด้วยไฟฟ้า

Loading ...
Success