พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

  • Q หลาน ชอบพูดคนเดียว
    26-03-2017 19:51:36

    สวัสดีครับ หลานชายผม อายุ 7 ขวบ เป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ทำงาน ให้ยายเลี้ยง เค้ามีพฤติกรรม หงุดหงิดง่าย ดื้อกับยายมากๆ พูดวนไปวนมา บางทีก็พูดคนเดียว บ่นคนเดียว ไป รร ก็มักจะโดนเพื่อนแกล้ง เค้าติดเล่นเกมส์จาก มือถือ ด้วย แบบนี้ควร พาไปพบ จิตแพทย์เด็กไหมครับ


    27-03-2017 11:09:44

    1. พฤติกรรมดื้อ ร่วมกับอารมณ์ ที่หงุดหงิด พูดคนเดียวเกิดจากได้หลายสาเหตุค่ะ ทั้งจากปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเป็นกลุ่มปัญหาพฤติกรรมชนิดดื้อต่อต้าน 

    2. เด็กมีประวัติการถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน ติดโทรศัพท์ การถูกพรากจากพ่อแม่ 

    ทั้งสองปัญหาควรต้องมีการประเมินผลกระทบทางจิตใจของเด็กค่ะ หมอแนะนำว่าน่าจะต้องพาไปประเมินโดยจิตแพทย์เด็กโดยตรงอีกครั้งค่ะ

    เพื่อประเมินหาสาเหตุของพฤติกรรมทั้งหมด รวมถึงวางแผนการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ

    พฤติกรรมของเด็กๆ สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเข้าใจ และร่วมมือกันในการดูแลค่ะ รีบไปประเมินเพื่อรับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ

  • Q ยารักษาโรควิตกกังวล
    13-03-2017 18:55:30

    สวัสดีครับ ผมเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล มาเกือบห้าปีแล้ว เมื่อ 4-5 ปีก่อนรักษาโดยการพบจิตแพทย์และทานยาไม่นาน อาการก็หายหายไป แต่ยังมีวิตกกังวลอยู่บ้าง โดยมักจะคิดว่าตัวเองเจ็บป่วยและมักตีความอาการต่างๆในร่างกายเป็นการเจ็บป่วยรุนแรง จนเมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมาเริ่มมีอาการวิตกกังวลในลักษณะเดิมอีก เข้าออกโรงพยาบาลเดือนละหลายครั้งเพื่อตรวจร่างกายกับระบบต่างๆทั้งทางเดินอาหาร(เป็นกรดไหลย้อนเนื่องจากทำงานกินนอนไม่เป็นเวลา ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนแล้วมีพบกระเพาะอาการระคายเคือง) ตรวจโลหิตจาง ตรวจไทรอยด์ และตรวจร่างกายทั่วๆไป ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่บอกมาหมอก็ไม่ได้ให้ทำหรือตรวจอะไรต่อ จนล่าสุดหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีอาการกังวลกลัวเป็นโรคต่างๆอีก คราวนี้อาการทางกายที่เป็นอยู่แล้วคือกรดในกระเพาะอาหารและลำไส้โครกครากกลับมา พร้อมกับอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด หนาวๆร้อนๆ หงุดหงิดง่าย แต่ก็ยังคงกิจวัตรได้แต่ไม่สุขใจเหมือนเคยอยากอยู่นิ่งๆไม่อยากทำอะไร ทางจิตแพทย์ได้ให้ยา Valdoxan มาทานซึ่งทานไปเกือบอาทิตย์ด้านอารมณ์ดีขึ้นมาเป็นลำดับแต่อาการทางกายยังมีบ้าง แต่จากข้อมูลเกี่ยวกับยาตัวนี้มีน้อยมาก ทราบแต่ว่ามีผลต่อตับพอสมควรเลยเกิดความกังวลขึ้นอีก และเริ่มไม่อยากทานยา จึงรบกวนถามว่า 1 เรื่องผลกระทบเกี่ยวกับตับกับยาตัวนี้(Valdoxon) หรือผลกระทบอื่นๆมีมากมั้ยครับ 2 จำเป็นต้องใช้ยานานมั้ยครับ 3 จำเป็นต้องตรวจอาการทางกายใดใด เพิ่มอีกมั้ยครับ 4 ลักษณะอาการดังกล่าวถ้าไม่รักษาด้วยยา จะใช้วิธีอื่นอีกได้มั้ยครับและใช้เวลารักษามากรึเปล่าครับ 5 อาการหัวใจเต้นแรง ควร และ สามารถใช้ยาควบคุมได้หรือไม่ครับ ขอบคุณครับ


    15-03-2017 14:14:27

    1. Valdoxan (Agomelatine) เป็นยาต้านเศร้าที่ออกฤทธิ์ ต่อสารสื่อสารประสาทในสมอง เช่น เมลาโทนิน ซีโรโทนิน จึง ช่วยด้านอารมณ์ และให้ผลดีกับเรื่องการนอน ของผู้ป่วย ผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ พบได้น้อยมาก คือ 0.01-0.1% หรือ 1 ใน 1000-10000 คน ที่ใช้ยานี้ 

    2.ในการรักษาโรควิตกกังวล โดยทั่วไปแนะนำให้รักษาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี ค่ะ เพื่อป้องกันการกลับมาเกิดอาการซ้ำของโรค

    3.จากที่คุณตรวจมา ก็ดูครอบคลุม ปัญหาที่คิดถึง ณ ขณะนี้ และถ้าพบความพบผิดปกติจากการตรวจร่างกาย หรือ พบความผิดปกติจากการตรวจเบื้อต้น โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ตรวจอื่นเพิ่มเติมอยู่แล้วค่ะ

    4.การรักษาอื่นๆ ที่มีงานวิจัยในการรักษาโรคในกลุ่ม วิตกกังวล เช่น การใช้จิตบำบัด เช่น CBT (cognitive behavior therapy) เป็นการบำบัดที่ใช้เวลาสั้น คือ พบแพทย์ประมาณ 8-12 ครั้ง (ทั้งนี้ขึ้นกับอาการ ความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย)

    5.อาการหัวใจเต้นแรง สามารถให้ยาอื่นๆช่วยควบคุมอาการได้ค่ะ เช่น ยาในกลุ่ม B blocker

    ทั้งนี้ ในโรควิตกกังวล มักเกิดจากความคิด เรื่องความไม่มั่นใจ ทำให้ยิ่ง กลัว กังวล จนเกิดอาการทางกายหลายอย่าง เช่น ใจสั่น รวมถึงโรคต่างๆที่เป็นผลจากความเครียด เช่น กรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน และความกังวลนี้เอง นำเองซึ่งพฤติกรรม ที่ต้องการการยืนยันเพื่อช่วยลดความกังวล เช่น การไปตรวจซ้ำๆ หลายๆ ที่ การถามคนอื่นเพื่อช่วยยืนยัน จะได้ลดความกังวล แต่ยิ่งถาม ความกังวลกลับคงอยู่

    คำแนะนำเบื้องต้น 

    1. ลดพฤติกรรมการถามซ้ำ ตรวจซ้ำ เพราะจะยิ่งทำให้ ความกังวลของคุณไม่หาย และจะเป็นมากขึ้น

    2. ฝึกการผ่อนคลาย เช่นการหายใจ ช้าๆ

    3. เปลี่ยนความคิด โดยการหาหลักฐานมาช่วยขัดแย้งความคิดที่ทำให้กังวล เช่น ถ้าเราป่วยมากจริง หมอคงต้องรักษาแล้ว อันนี้แปลว่าเราไม่ได้เป็นอะไร แต่เป็นความกังวล

    โรควิตกกังวล ดีขึ้นได้ด้วยการ ลดความคิดที่ทำให้กังวลนะคะ 

  • Q กินยาต้านเศร้าแล้วง่วงนอนมาก
    05-03-2017 23:57:13

    ได้ยารักษาอาการซึมเศร้าอะมิทริปไทลีนเม็ดสีเหลือง แต่ลองกินแล้วนอนทั้งวันเลยค่ะ ง่วงจนทำอะไรไม่ไหวเลย แบบนี้ไม่กินได้ไหมคะ โรคซึมเศร้าถ้าไม่รักษาจะเปนไรมากไหมคะ อาการร้ายแรงที่สุดจะเป็นอย่างไรคะ


    06-03-2017 11:41:23

         โรคซึมเศร้าอาการคือ มีอารมณ์เบื่อเซ็ง ไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร มีปัญหาเรื่องการนอน รู้สึกตัวเองไร้ค่า บางครั้งมีความคิดอยากตาย รู้สึกผิดได้ง่าย อาการที่เป็น เป็นนานติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จนทำให้เจ้าตัวเป็นทุกข์ เสียหน้าที่ในชีวิจประจำวัน

         อาการอาจเป็นระดับที่ไม่รุนแรง จนถึงรุนแรงมากได้ การรักษา ถ้าเป็นระดับไม่รุนแรง อาจใช้การทำจิตบำบัดเพียงอย่างเดียวได้ แต่ในกรณีที่อาการเป็นมากการรักษาโดยการใช้ยาจะให้ผลดีกว่า ซึ่ง ยารักษาโรคซึมเศร้า มีหลายกลุ่ม เช่น

    1. กลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor เช่น Fluoxetine , Sertraline , Escitalopram ยาในกลุ่มนี้ไม่ทำให้ง่วง แต่อาจทำให้ คลื่นไส้ อาเจียน ได้

    2. กลุ่ม serotonin norepinephrine reuptake inhibitor เช่น Duloxetine, Venlafaxine ยากลุ่มนี้ก็ไม่ทำให้ง่วง แต่อาจทำให้ คลื่นไส้ อาเจียน ได้เช่นเดียวกัน

    3. กลุ่ม tricyclic เช่น Amitriptyline , Nortriptyline ยากลุ่มนี้จะค่อนข้างง่วงค่ะ และอาจทำให้ท้องผูก ปากแห้ง คอแห้งได้

     ดังนั้นควรไปปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอีกครั้ง เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นค่ะ และควรรักษาต่อเนื่องนะคะ เพราะการไม่รักษาอาจมีผลให้อาการเป็นเรื้อรัง จนมีผลกระทบกับชีวิตด้านอื่นๆ หรือจนเป็นสาเหตุนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ค่ะ  


  • Q ลูกโกหก
    05-03-2017 17:03:43

    สวัสดีค่ะ ลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่นชายค่ะ เริ่มจับได้ว่าลูกโกหกหนักขึ้นค่ะ ทั้งๆที่ลูกก็รักเรามาก แต่ยอมรับว่าแม่เป็นคนโมโหร้าย เพราะลาออกจากงานมาดูแลลูก ซึ่งพ่อปล่อยให้เป็นหน้าที่แม่ทุกอย่าง และมักจะบอกว่าแม่ว่าง ซึ่งจากที่ลาออกจากงาน เราก็เครียดมากแล้ว คชจ.ตอนทำงานต่างคนต่างใช้แยกกระเป๋า ยกเว้นเรื่องลูกหารครึ่ง ลาออกใหม่ๆใช้เงินตัวเองตลอด จนหลังๆไม่ไหว เพราะเราไม่มีรายได้ เริ่มมีปัญหาเรื่อง คชจ. แต่ตอนนี้เริ่มโอเคขึ้น แต่แม่ก็ยังมีอารมณ์เมื่อลูกผิด บางครั้งมารู้สึกทีหลังว่าเล็กน้อยแต่เราเหมือนคนบ้าโวยวาย จนติดนิสัย ทำให้ลูกเริ่มโกหก ทำสอบไม่ได้บอกได้ ผลออกมา ตก มีเรื่องกะเพื่อนโดนเพื่อนทำร้ายไม่กล้าบอกแม่ กลัวแม่เอาเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้เริ่มคิดว่าแม่เป็นโรคจิตหรือเปล่าค่ะ แต่แม่เริ่มผ่อนลงและคุยกับลูกว่าแม่จะอ่อนลงให้เค้าตัดสินใจเอง แม่คิดถูกไหมคะ ลูกชายอายุ 13 เป็นลูกคนเดียวค่ะ


    06-03-2017 09:07:59

    1. ปัญหาดังกล่าว คงไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง คงต้องมองเป็น " ปัญหาของระบบครอบครัว " 

    1.1 คุณแม่  

    - ที่ต้องเสียสละออกจากงานมาดูลูก โดยทั่วไปอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เลยทุ่มเทพลังทั้งหมดไปที่การดูแลลูก ดูแลบ้าน ผูกคุณค่าของตัวเองทั้งหมดไว้กับลูก เมื่อลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ก็จะมีอารมณ์ได้ง่าย

    - ร่วมกับการที่ สามี ไม่ให้ความเข้าใจ เห็นใจ หรือแม้กระทั่งการให้กำลังใจ ก็ยิ่งทำให้ เกิดอารมณ์ เบื่อ ท้อ หงุดหงิด ได้มากขึ้น

    1.2 คุณพ่อ

    - อาจมีความคิดว่า ตัวเองทำงานนอกบ้านแล้ว และอยากให้สิทธิภายในบ้านเป็นของคุณแม่คนเดียว

    1.3 ลูกชาย

    - ด้วยความรักแม่ และคงกลัวแม่เสียใจ ในกรณีที่ตัวเค้าประเมินแล้วว่า ถ้าบอกอะไรออกไปจะทำให้แม่โมโห เค้าคงเลือกที่จะไม่บอกความจริง

    ตามทฤษฎีของหน้าที่ครอบครัว (Mc Master Model) หน้าที่ของครอบครัว ที่สำคัญคือ

         1. การสื่อสาร 

             - ในกรณีนี้ จะเห็นว่าในครอบครัวไม่มีการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา อย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารโดยใช้            I message เช่น แม่อยากให้พ่อมาช่วยคุยกับลูกให้หน่อย ช่วงนี้แม่เหนื่อยมากเลย , แม่รู้ว่าที่หนูไม่พูด            ความจริงคงเพราะหนูกลัว แต่แม่จะดีใจมากถ้าลูกมาบอกความจริงกับแม่ 

         2. การตอบสนองทางอารมณ์

             - ตัวคุณแม่เอง คงอยากให้คุณพ่อหรือลูก  มาเข้าใจ ให้กำลังใจ ว่าตัวเองเหนื่อย ตรงนี้ถ้าคุณพ่อเข้าใจ            และช่วยเหลือ คงทำให้ตัวคุณเองมีแรงในการจัดการกับอารมณ์ได้มากขึ้น

             - ตัวลูกชายเองก็เช่นกัน ถ้าเวลาที่เค้ามาเล่าเรื่องที่ไม่ดี ให้ทราบตามความจริง แล้ว มีการตอบสนองทาง            อารมณ์ที่เหมาะสม ลูกก็จะกล้าเล่าความจริงมากขึ้น เช่น แม่เข้าใจว่าหนูคงไม่ได้ตั้งใจให้เกิดเรื่องนั้น                ไหนลองเล่าให้แม่ฟังสิว่าเกิดอะไรขึ้น

         3. การเข้าไปเกี่ยวข้องกับอีกคน

             - แม้ว่าจะเป็นครอบครัว แต่สมาชิกแต่ละคนก็เหมือนเป็น คน คนหนึ่งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น เป็นวัย           ที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบการควบคุม อยากเลือกอะไรด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ เป็นเพียงแค่คนที่           ช่วยออกความเห็น ให้คำปรึกษา มาร่วมกันมองหาข้อดีข้อเสีย ถ้าพ่อแม่ยังควบคุม หรือจัดแจงแทนเค้า           เยอะเกินไป ก็อาจทำให้เค้าอึดอัดได้ และเลือกที่จะโกหกแทนได้

             - หรือแม้กระทั่งการที่สมาชิกคนใดคนหนึ่ง ห่างเหิน ออกไป เช่นคุณพ่อที่ไม่เข้ามาช่วยปัญหาในครอบครัว           ก็มีผลกระทบกับสมาชิกที่เหลือในครอบครัว


         4. การควบคุมพฤติกรรม หรือ กฏ ในบ้าน

            - ในบ้านควรมีกฎ ให้ชัดเจน ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่สมาชิกในบ้านห้ามทำ แล้วมีกติกา ในการลงโทษ ที่               ชัดเจน เช่น ชุดชั้นใน เป็นงานส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบเอง

         5. การแก้ปัญหาร่วมกัน

            - ปัญหาที่ว่าดังกล่าว ไม่ใช่เป็นปัญหาของคนใดคน หนึ่ง อาจต้องหาเวลา ที่อารมณ์ดีๆ มานั่งคุยกัน ว่า           แต่ละคนจะช่วยแก้ปัญหาของครอบครัว ที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้อย่างไรบ้าง


    2. และคงต้องช่วยหาสาเหตุ ปัญหาการเรียนที่แย่ลงของเด็ก ด้วย เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า การถูกเพื่อนรังแก ในโรงเรียน จนทำให้เด็กไม่กล้าบอกความจริง หรือแม้กระทั่งภาวะอารมณ์ของคุณเองอาจเป็นภาวะเครียด หรือจนถึงภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ที่ทำให้การคุมอารมณ์ทำได้ยากมากขึ้นแม้ว่าจะพยายามแล้ว 

           ในเบื้องต้นหมอแนะนำว่า น่าจะหาช่วงเวลาดีๆ คุยกับสามีเรื่องที่คุณอยากให้เค้าเข้ามาช่วยดูแลปัญหาในครอบครัว คุยกับลูกถึงปัญหา ความรู้สึกของเค้า ทั้งนี้หมอแนะนำว่าอาจพาลูกชายไปขอคำปรึกษากับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอีกครั้งเพื่อประเมินถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยละเอียดอีกครั้งค่ะ

           สุดท้ายหมอเห็นถึงความรัก ความเอาใจใส่ ที่คุณมีให้ลูก แต่คุณเองก็คงเหนื่อยกับการที่เอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับความสำเร็จของลูก โดยที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทุ่มเทไป หมอว่าอาจถึงเวลาที่คุณจะชื่นชมตัวเอง ในส่ิงที่ทำ แม้ว่าอาจไม่ได้ตามผลที่คาดหวังไว้นะคะ 



  • Q ย้ำคิดย้ำทำ แก้ยังไงครับ
    20-02-2017 12:46:53

    จะเป็นเรื่อง ปิดประตู ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะพวกความร้อน พัดลม และปิดน้ำ และ ดับเทียน สาเหตุ ส่วนมากจะเคยเกิดเหตุการ พวก น้ำล้นจนท่วม หรือ กระทะไหม้ และเจอในข่าว ที่เปิดพัดลมจนไฟไหม้ที่นอน เลยกลัว ส่วนมากจะต้องกลับไปดูใหม่ บางครั้งจะเป็นหลายครั้ง ปิดเสร็จ คิดไปเรื่องอื่น ก็ต้องกลับมาเช็คอีก ไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไรครับ


    22-02-2017 08:26:32

    โรคย้ำคิดย้ำทำ จะมีอาการเด่นๆคือ 

    1. ย้ำคิด อาจเป็นลักษณะความคิด ภาพ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเอง ซ้ำๆ บางครั้งเจ้าตัวก็รู้สึกว่าความคิดนั้นไร้สาระ 

    2. ย้ำทำ เป็นการทำบางอย่างโดยมักมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ลดความกังวลจากความย้ำคิด เช่น กังวลว่า มือสกปรก ก็จะล้างมือซ้ำๆ กังวลเรื่องความปลอดภัย ก็ตรวจสอบซ้ำๆ เช่น ปิดบ้าน ตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้า ก่อนออกจากบ้าน

    อาการที่ว่าดังกล่าว มีผลมากจนรบกวนการชีวิตปกติประจำวัน  เช่น หมกหมุ่นในเรื่องๆ นั้นๆ เป็นเวลานาน (มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน) กระทบกับการงาน การเรียน ความสัมพันธ์ 

    อาการเหล่านี้ ในปัจจุบัน พบว่าเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมองในส่วนควบคุมความคิดและพฤติกรรม จากการผิดปกติของสารสื่อประสาทบางชนิด

    เบื้องต้น แนะนำว่าควรไปตรวจประเมินโดยละเอียดกับจิตแพทย์ใกล้บ้านค่ะ

    ทั้งนี้ในการรักษาทำได้หลายวิธี เช่น

    1. การรับประทานยา ที่ช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมอง เช่นยา ในกลุ่ม serotonin re-uptake inhibitor

    2. การทำจิตบำบัด เช่น การปรับความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavior therapy) 

     - โดยการบำบัดนี้ มีหลักการว่า ความคิดมีผลกับพฤติกรรม และการเปลี่ยนพฤติกรรมเองก็สามารถเปลี่ยนความคิดได้ 

     - หลักการอย่างหนึ่ง ในการรักษาภาวะย้ำคิดย้ำทำคือ exposure and response prevention โดยการฝึกที่จะทนกับความคิดกังวลโดยไม่ทำพฤติกรรมย้ำทำ จนเกิดความเคยชิน แล้วระดับความกังวลจะลดลง ทั้งนี้ควรฝึกกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจเป็นนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ที่ทำการรักษาค่ะ


    โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคจากสารสื่อประสาทนะคะ ไม่ได้เป็นบ้า หรือเป็นคนอ่อนแอ ลองไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินและรับการรักษาที่เหมาะสมนะคะ โรคนี้สามารถดีขึ้นได้ค่ะ

  • Q ป่วยแพนิคและสมาธิสั้น
    17-02-2017 20:25:21

    ดิฉันได้ตรวจพบว่าเป็นโรคแพนิค ตั้งแต่ ปี 2556 และกินยาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อ 6 ปีก่อน ถูกสามีนอกใจทำร้ายจิตใจ เอาคนใช้ในบ้านเป็นเมีย ทำให้ช็อคและรับไม่ได้ เนื่องจากสามีเป็นคนจิตใจดี ชอบสวดมนต์ ทำบุญ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวผู้หญิง (แต่งงานกันมา 15 ปี) มีลูกด้วยกัน 1 คน ปัจจุบันลูกอายุ 11 ปีค่ะ หลังจากนั้นจึงขอแยกกันอยู่ โดยออกมาอยู่แมนชั่นใกล้ที่ทำงานตามลำพัง เพื่อให้ต่างฝ่ายทบทวนตัวเอง โดยลูกยังอยู่กับสามีเนื่องจากยังอยู่ระหว่างเทอม และกะว่าจบเทอมจะรับลูกมาอยู่ด้วย แต่สามีไม่ยอม และกีดกัน จนต้องฟ้องศาลเรื่องขอสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตร โดยใช้เวลานัดมาไกล่เกลี่ยอยู่ 2 ปี เพราะศาลเห็นว่า น่าจะเจรจายอมความกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างรักลูก ช่วงนั้นจะเครียดมาก แต่ปัจจุบันเรื่องลูกตกลงกันได้แล้วค่ะ และต่างฝ่ายต่างถอนฟ้องและหย่า เมื่อ ต.ค.58 ส่วนอาการมือสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วมาก หายใจไม่อิ่ม ร้อนวูบวาบ ชามือ ชาหน้า เวียนศีรษะ เวลาเครียดมากๆ หรือถูกกระทบกระเทือนจิตใจ จะกิดอาการไมเกรนรุนแรงร่วมด้วย จะปวดหัวมากจนหายใจถี่ และจะกลัวในอาการตัวเองจนน้ำตาไหล กลืนน้ำลายไม่ลง เหมือนแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อยากรีบไปโรงพยาบาล กลัวตัวเองจะขาดใจตาย มีเพื่อนทักว่า มีอาการเหมือนแพนิคที่เค้าเป็น จากนั้นจึงเริ่มไปพบจิตแพทย์ โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นแพนิค โดยให้ทาน Prozac Rivotril Depakine และ inderal ทุกวัน ส่วน Lorazepam ทานเฉพาะเวลามีอาการกำเริบ โดยได้ทานยาต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี อาการมือสั่นตลอดเวลาหายไป พอทานยาได้ 4 เดือนแรก ส่วนอาการอื่นๆ ก็ทรงๆ แต่เป็นห่างขึ้นเมื่อทานยามาได้ 2 ปี แต่ระยะนี้มีความเครียดเรื่องงาน เพราะทำงานเกี่ยวกับตัวเลข แต่กลับทำงานผิดพลาดบ่อยเพราะไม่ได้เรียนจบมาทางด้านนี้โดยตรง และมีปัญหาเกี่ยวกับการคุมรายจ่ายไม่ได้ รูดบัตรเครดิตจนเกินวงเงิน กู้สินเชื่อแทบทุกแบงค์ เห็นของอะไรจะยับยั้งชั่งใจไม่ได้เลย ไม่ว่าจะของกิน เสื้อผ้า หนังสือ เครื่องประดับ สุดท้ายเป็นหนี้มากมาย มีคนเคยแนะนำให้ตัดใจไม่ซื้อของ ให้คิดว่าไม่จำเป็น แต่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ พอเห็นอะไรก็จะต้องซื้อให้ได้ ทั้งๆที่เงินก็ไม่พอใช้ ดิฉันจะรู้สึกมีความสุขและเพลิดเพลินมากเวลาได้เดินเลือกซื้อของ เหมือนจะลืมปัญหาต่างๆไปชั่วขณะ แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับมาถึงบ้านก็กลับมาเครียดว่าเราทำลงไปได้ยังไง ของซื้อมาจนเกลื่อนบ้าน แถมบางอย่างก็ไม่ได้ใช้ สุดท้ายก็มานั่งโมโหตัวเองว่าจะซื้อมาทำไม คนรอบข้างตักเตือนเป็นห่วงยิ่งทำให้เราผิดหวังในตัวเอง บางครั้งจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายเกรี้ยวกราด ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทำให้มีปัญหากับคนรอบข้างมากขึ้น พอเครียดทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องหนี้สิน รวมถึงอาการเจ็บป่วยของตัวเองที่เป็นสารพัดโรค ไมเกรน แพนิค กรดไหลย้อน นิ้วล็อค กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ตึงคอบ่าไหล่ทุกวัน ยิ่งทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน ผลคืองานส่งช้ากว่ากำหนด ที่เล่ามาทั้งหมด คืออยากเรียนถามคุณหมอว่า อาการต่างๆเกิดจากโรคสมาธิสั้น และ Bipolar ร่วมด้วยใช่หรือไม่คะ สำหรับอาการซึมเศร้าจะเป็นบางครั้ง ส่วนใหญ่จะมีอาการพูดเร็ว พูดเยอะ มีคนทักเยอะว่าพูดให้น้อยๆหน่อยก็ดี และจะไฮเปอร์ในบางเรื่อง บางเรื่องก็เฉื่อยชาไม่มีความกระตือรือร้นจะทำอะไร มาทำงานสายแทบทุกวัน ทั้งที่ไม่ได้ตื่นสาย กลับทำโน่นนี่จนออกจากบ้านเลท ตอนนี้กลุ้มใจมากค่ะ รู้สึกว่าตัวเองจะเป็นโรคประสาท และเสพติดการชอปปิ้งมากจนคนในครอบครัวระอา เพื่อนฝูงไม่อยากมาสุงสิง เพราะมองว่าเราเป็นคนเห็นแก่ตัว หัวสูง ฟุ่มเฟือย แต่กลับมาอ้างว่าป่วย ทำให้สับสนในตัวเองว่า ตกลงเราเอาอาการป่วยมาอ้างอย่างคนอื่นว่ารึเปล่า หรือเกิดจากอาการป่วยทางจิตกันแน่ บางอารมณ์ที่เหงาๆหรืออยู่ลำพัง สมองก็แว่บมาว่า เบื่อชีวิต ไม่อยากมีชีวิต แต่ยังไม่ได้ถึงขั้นคิดสั้น อาจเพราะฤทธิ์ยาต้านเศร้าคุมอาการไว้ได้...ขอความกรุณาคุณหมอชี้แนะด้วยนะคะ


    22-02-2017 08:08:10

    1. อาการสมาธิสั้น เช่น วอกแวกง่าย ขี้ลืม เหม่อบ่อยๆ เกิดจากได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่โรคทางกายบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ หรือ ภาวะวิตกกังวล ปัญหาทางด้านอารมณ์เอง ความเครียดที่มากเกินไป โดยโรคสมาธิสั้นเองนั้นเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมักพบอาการตั้งแต่ในเด็กๆ ถ้ามีอาการเหล่านี้ที่เพิ่งมาเกิดขึ้นในผู้ใหญ่มักต้องหาสาเหตุอื่นๆก่อน

    2. อาการพูดเก่ง ใช้จ่ายเงินเยอะ เป็นส่วนหนึ่งของอาการ Bipolar ในช่วง mania ได้ แต่จะพบร่วมกับอาการอื่นๆด้วย เช่น มีความต้องการนอนน้อยลง รู้สึกตัวเองมีพลังมากขึ้น มีความมั่นใจในตัวเอง ความคิดแล่นเร็ว มีกิจกรรมต่างๆเยอะมากขึ้น 

    ทั้งนี้ควรเล่าอาการดังกล่าว ให้จิตแพทย์ที่รักษาทราบ เพื่อจะได้ตรวจประเมินโดยละเอียด และปรับการรักษาอีกครั้งค่ะ

    ส่วนอาการใจสั่น หายใจไม่อิ่ม ตัวชา กลืนไม่ลง ท้องไส้ปั่นป่วน เป็นอาการของ Panic ได้ ในเบื้องต้น แนะนำให้ลองฝึก ผ่อนคลายด้วยการหายใจนะคะ ขั้นตอนดังนี้

    - หาบริเวณที่สงบ อาจนั่งหรือนอนราบ ให้รู้สึกสบาย

    - วางมือข้างหนึ่งที่หน้าท้อง อีกข้างที่บริเวณอก

    - สูดลมหายใจเข้าช้าๆ สังเกต มือที่ห้องยกขึ้นขณะหายใจเข้าสุด นับค้างไว้ช้าๆ 1 2 3 

    - ผ่อนลมหายใจออก สังเกตมือที่ท้องยุบตัวลง

    - ทำสลับ หายใจ เข้า ออก 10-15 ครั้ง สม่ำเสมอ

    การฝึกหายใจนี้จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ง่ายขึ้นค่ะ ช่วยลดอาการของ Panic ได้ดี

    สุดท้ายหมอขอชื่นชมที่คุณทานยา ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ คนป่วยไม่ใช่คนจิตใจอ่อนแอนะคะ คนที่เผชิญหน้ากับความจริงเป็นคนเข้มแข็งเสมอค่ะ หมอดีใจที่คุณยังมีความหวังในการดำเนินชีวิตนะคะ ที่ผ่านมาแม้ว่าปัญหาอุปสรรคจะมีมาก แต่คุณก็ผ่านมาได้ อย่าลืมให้กำลังใจและชื่นชมกับความอดทนของตัวเองนะคะ

  • Q เครียดคะ
    24-12-2016 14:24:06

    มีปัญหาครอบครัว. พ่อเสียชีวิตไป6เดือนแล้วทำให้เกิดปัญหาเพราะแม่อายุ72ปี. อยู่ ตจว. กับน้องชายที่ติดเหล้าเมาทำงานไม่ได้ตลอด24 ชม. ดิชั้นต้องทำงาน แม่ก็ต้องการให้ไปดูแล(ระยะทาง. 800กิโล. ไป กลับ). ทุกวันนี้ต้องเดินทางไปหาแม่ ศ. เย็น. อ บ่ายกลับ มาเพื่อทำงาน วัน. จ. เหนื่อยและเครียด กับ พฤติกรรมของแม่ และน้องชาย. ดิชั้นควรจะทำอย่างไรดี ไม่ไป หาแม่ ก็ รู้สึกผิด. ไป. ก็เหนื่อย. สามีก็ไม่ชอบแม่ แม่ก็ไม่ชอบสามี คิดไม่ตกจริงๆคะ. คุณหมอ ช่วยด้วยคะ. กราบขอบพระคุณคะ


    24-12-2016 22:01:50

    ปัญหานี้แยกเป็นสองส่วนนะครับ 

    1. ปัญหาความเครียด เป็นเครียดแบบมีสาเหตุชัดเจน ระบุได้ 

    2. ปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเครียด 


    แยกกันก่อนว่าเครียดอันนี้ไม่ใช่โรคเครียด แต่เป็นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหาทางออกไม่ได้เลยเครียด อันนี้ไม่มีทางแก้จริงๆครับ ความเครียดจะหายเมื่อแก้ไขปัญหาครอบครัวได้ ส่วนหนึ่งหมอแนะนำให้พูดคุยกับคนที่คุยได้ง่ายที่สุดก่อนคือ สามี ว่าเพราะอะไรสามีถึงไม่ชอบแม่ และปรึกษาสามีว่าเราจะทำยังไงดี เพราะคุณเองก็ไม่ได้อยากไปบ้านมากนัก เพราะเหนื่อยและไม่ชอบพฤติกรรมของทั้งแม่และน้องชาย  ถ้าแสดงออกให้สามีเห็นชัดว่าเราก็เห็นด้วยกับสามี เป็นฝ่ายเดียวกัน เขาจะหยุดการทะเลาะกับเราแล้วมาช่วยเราหาทางออกครับ 

  • Q มีอาการเครียดที่เกิดจากงานประจำ
    14-12-2016 17:31:05

    ช่วงหลายเดือนมา(ประมาณ 3 เดือน) ผมมีปัญญาเรื่องงานทับถมจำนวนมาก อาการเมื่อมีความรู้สึกงานเสีย งานผิดพลาด หรืองานเยอะจนทำไม่ทัน อะไรประมาณนี้ แว๊ปแรกมีอาการปวดศรีษะก่อนเลย ปวดแบบหายเองอะครับ แล้วอารมณ์ตึงๆตื้อๆคิดอะไรไม่ออกก็ตามมา คุณหมอพอจะมีวิธีอะไร แนะนำใหม หรือผมควรปรับอารมณ์ตัวเองยังไง ขอบคุณครับ


    16-12-2016 11:35:16

    ควรปรับเรื่องสมาธิมากกว่านะครับ เพราะอาการทั้งหมดที่เล่ามามีจุดกำเนินคือ งานทับถม จำเกิดความพลาด พองานพลาดก็เหมือนมีอาการปวดศีรษะ และตื้อตึง แม้จะหายเอง แต่ทำให้เสียงานไป และยิ่งทับถมมากขึ้น


    ดังนั้นมูลเหตุทั้งปวงเกิดจาก งานทับถม งานทับถมเพราะทำไม่ทัน และส่วนหนึ่งที่ทำไม่ทันคือ มีสิ่งมาดึงความสนใจจากงานออกไป ดังนั้นทางแก้คือ มีสมาธิกับงานมากขึ้นครับ 

  • Q การร่วมงานกับผู้ป่วยจิตเวช
    28-11-2016 13:25:50

    ทางสามีได้รับพนักงานใต้บังคับบัญชาใหม่ โดยการโอนย้ายมาจากหน่วยงานฝ่ายผลิต เนื่องจากพนักงานคนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวช ที่ได้รับการบำบัดแล้ว โดยไม่ทราบรายละเอียดอาการ และประวัติการรักษาแต่อย่างใด ทราบแต่เพียงว่าถ้าไม่รับไว้ พนักงานคนนี้อาจต้องตกงานได้ อยากทราบว่าควรมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง โดยสถานที่ทำงานที่พนักงานคนนี้จะไปนั่งทำงานเป็นห้องรวมมีพนักงานชายประมาณ 40 คน และไม่แน่ใจว่าจะมีคนทราบอาการป่วยของพนักงานท่านนี้หรือไม่ค่ะ ทางสามียังไม่ได้แจ้งให้ผู้ร่วมงานท่านอื่นทราบค่ะ


    29-11-2016 12:38:18

    ทำได้เพียงอย่างเดียวครับ คือ ขอให้พนักงานท่านนั้นเอาใบรับรองแพทย์และรายละเอียดจากแพทย์มาดูครับ แพทย์จะระบุได้ว่าอะไรยังไง  แต่การที่ผ่านการบำบัดมาเรียบร้อยแล้วนั้น ก็เท่ากับเขาเป็นคนปกตินะครับ 

  • Q มีอาการของโรคซึมเศร้าค่ะ
    21-11-2016 12:12:18

    ช่วงนี้รุ้สึกเบื่อมากๆกับการใช้ชีวิตคู่ อยากเลิกกับสามี ทะเลาะกันแทบทุกอาทิตย์ เขาเปลี่ยนไปหลังจากการผ่าตัดไทรอยด์ (สามีอายุ 57 ดิฉันอายุ 42) โดยที่ตัวเขาเองทำอะไรก็คิดว่าตัวเองถูกอยู่ฝ่ายเดียว คนอื่นเตือนอะไรหรือพูดอะไร เขาก็คิดว่าว่าเขาตำหนิเขา หลังๆมาเขาเริ่มใช้คำว่าความคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือทัศนคติไม่ตรงกัน เขาไม่งัอ ไม่เอาใจ ไม่ใส่ใจเราเหมือนเคย เลยอยากเลิกมากๆ เบื่อหน่ายกับการห่างเหิน และถูกทอดทิ้ง ไม่เอาใจใส่ รัองไห้ทุกวันมา 8 เดือนแล้ว (ผ่าตัดเดือนเมษา 59 ) รบกวนให้คำปรึกษาและแนะนำด้วยค่ะ


    29-11-2016 12:37:00

    1 คงต้องมองที่มูลเหตุเสียใจก่อนนะครับ ที่เสียใจประกอบไปด้วย 2 อย่างคือ อย่างแรกสามีไม่เหมือนเดิม ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่วัดยาก แต่หมอเชื่อว่าเป็นไปตามนั้นจริงๆ  อย่างที่สองคือ ผิดหวัง อันนี้เป็นปัจจัยจากภายในใจของเราเอง 


    2 เรื่องการที่สามีมีนิสัย และ พฤติกรรมเปลี่ยนไปน่าจะเกิดจาก อายุที่มากขึ้นร่วมกับการป่วยครับ ปกติแล้วคนที่เคยเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเสาหลัก พอได้ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล มีโรคประจำตัวจะรู้สึกว่าตัวเอง compromise และไปสู่อาการซึมเศร้า ซึ่งหากซึมเศร้าเยอะจะแปรเป็นความก้าวร้าวอย่างที่สามีคุณพี่เป็นได้ หากเป็นมานาน (ซึ่งคิดว่านานนะครับคือเกิน 8 เดือน) น่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่ควรต้องไปพบแพทย์แล้วครับ

    3 ซึ่งนำมาสู่ปัญหาที่สามคือ "เขาคงไม่ยอมไปเพราะไม่ยอมฟังใคร" อันนี้คงลำบากที่จะให้คำแนะนำครับ แต่เชือ่เถอะครับว่าการไปพบจิตแพทย์จะช่วยได้จริงๆ ลองพูดจาปรับความเข้าใจว่า เพื่อความสุขของชีวิตคู่ของเราสองคน  แต่หากมันเกินทนจริงๆนะครับ หรือความสุขมันแห้งขอดจริงๆ ไม่เคยมีใครบอกนะครับว่า การหย่าร้าง หรือแยกกันอยู่สักพักเป็นหนทางที่ผิด หากทำไปเพื่อรักษาความสุขและจิตวิญญาณของเรา 

Loading ...
Success