พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

เด็กเป็นต้อหินได้หรือไม่?

 

เด็กเป็นต้อหินได้หรือไม่?

คำตอบคือ ‘ได้’ ครับ และเป็นภัยเงียบต่อดวงตาที่น่ากลัวทีเดียว

มารู้จัก โรคต้อหินในเด็ก (Pediatric Glaucoma) กันก่อนนะครับ

เราคงคุ้นเคยกับโรคต้อหินในผู้ใหญ่มาบ้างพอควร แต่ทราบหรือไหม่ว่าในเด็กก็สามารถพบต้อหินได้ และมีอาการแสดงที่ต่างไปจากผู้ใหญ่ การตรวจวินิจฉัยเองก็ทำได้จำกัดเนื่องจากความไม่ร่วมมือของเด็ก การรักษาก็มีหลายประเด็นที่ต่างจากผู้ใหญ่มากเช่นกัน 

ต้อหินในเด็ก เป็นกลุ่มโรคที่พบได้ไม่บ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ มีการอาการและอาการแสดงของโรคต่างกันไป ขึ้นกับสาเหตุ ระยะความรุนแรงของโรค และอายุของเด็ก นอกจากนั้นยังพบความต่างจากต้อหินในผู้ใหญ่ได้หลายประเด็น เช่น สายตาสองข้างไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในข้างที่เป็นต้อหินมักมีสายตาสั้น, การแยกของบางชั้นของกระจกตา เป็นต้น ซึ่งมักลงท้ายด้วยการมีสายตาเอียงที่ผิดปกติ สิ่งสำคัญที่สุด ถึงแม้ว่าจะสามารถควบคุมความดันลูกตาและลดหรือหยุดการลุกลามของต้อหินได้แล้ว ปัญหาอีกอย่างที่สำคัญ ที่ทำให้การมองเห็นในเด็กกลุ่มนี้ไม่ดีก็คือ ภาวะสายตาขี้เกียจ (Lazy eye)

การจำแนกชนิดของต้อหินในเด็ก

  1. ต้อหินปฐมภูมิ มี 2 ประเภท ได้แก่ ต้อหินแรกเกิด (พบมากที่สุดของต้อหินในเด็ก) และ ต้อหินวัยเด็ก (มักพบในเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป)
  2. ต้อหินเนื่องมาจากความผิดปกติในการพัฒนาการสร้างตา และ/หรือ เนื่องมาจากโรคทางกายอื่น
  3. ต้อหินที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น หรือการผ่าตัด เช่น ม่านตาอักเสบในเด็กเนื่องจากโรคข้อรูมาตอยด์ หากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองต้อหิน อาจไม่ทราบว่าเด็กเป็นต้อหิน หรือหลังจากการผ่าตัดต้อกระจกในวัยเด็ก ต้องได้รับการตรวจติดตามต่อเนื่องเพื่อป้องกันภาวะต้อหินแทรกซ้อน
  4. ภาวะที่สงสัยต้อหิน เช่น เด็กที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นประจำ เด็กที่มีสายตาสั้นบางราย หรือ ในเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน

อาการแสดงของโรค โดยแบ่งตามช่วงอายุของเด็ก

1. กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี  มีอาการอย่างชัดเจน มักมาด้วยอาการ 3 อย่างที่สำคัญ

  • การแพ้แสง (photophobia)
  • น้ำตาไหล (epiphora)
  • หยีตาหลบแสง (blepharospasm)
  • ส่วนอาการอื่นๆ เช่น ตาใหญ่ (buphthalmos), กระจกตาบวมขุ่น (corneal edema), รอยแยกในกระจกตา (haab striae) มักพบในรายที่รุนแรง ในกลุ่มนี้มักต้องการการรักษาโดยการผ่าตัด

2. กลุ่มเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วง 1‐3 ปี อาการที่จำเพาะ คือ เด็กมักมาด้วยตามัวซึ่งอาจมาจากสายตาสั้นอันเนื่องมาจากความดันตาที่สูง หรือตามัวจากใยประสาทตาถูกทำลายจากความดันตาที่สูง หรือมาด้วยอาการแสดงของโรคอื่นที่มีความเกี่ยวพันกับการเกิดต้อหิน เช่น ปานแดงที่ในหน้าและที่เปลือกตา (Sturge Weber Syndrome) ปานดำโอตะ (nevus of Ota)ภาวะไม่มีม่านตา (aniridia) หรือภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดอุบัติเหตุทางตาที่ทำให้มุมม่านตาขาด (angle recession) และอื่นๆ


ส่วนการที่จะตรวจหาว่าเด็กเป็นโรคต้อหินหรือไม่? และมีแนวทางการรักษาอย่างไร? ติดตามได้ในตอนต่อไปนะครับ

โดย นพ.วรากร เทียมทัด

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success