พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

Three person baby

 

*บทความมีการแก้ไขเพื่อความเหมาะสมของข้อมูล วันที่ 30 กันยายน 2559

“Three person baby”

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา มีข่าวดังมากจากประเทศอังกฤษ เป็น breaking news จาก BBC, CNN และ daily mail เกี่ยวกับการให้กำเนิดทารกที่เกิดจากเทคนิคใหม่ของการทำเด็กหลอดแก้วซึ่งสร้างทารกขึ้นจาก DNA ของคน 3 คน เรียกว่า “Three person baby” 

First 'three person baby' born using new method By Michelle RobertsHealth editor, BBC News online

เอ๊ะ!!! มันคืออะไร ยังไง เด็กคนนึงต้องเกิดจาก DNA ของพ่อกับแม่เท่านั้นนี่นา แล้วอะไร ยังไง เกิดจากคน 3 คน เพื่ออะไร ยังไง เป็นไปได้เหรอ คำถามผุดขึ้นเต็มไปหมดเลยสินะคะ ไม่ต้องตกใจไปค่ะ ไม่เพียงแต่คุณๆ ทั่วไปที่สงสัย แม้แต่เพื่อนๆ หมอเองหลายคนก็ถามกันมาเยอะเลยว่ามันคืออะไร โลกเราไปไกลขนาดนั้นเลยเหรอ จริงค่ะ โลกเทคโนโลยีเราไปไกลมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้หมอจะมาเล่าคร่าวๆ พอให้เข้าใจกันเล็กน้อย จริงๆ แล้วรายละเอียดเรื่องนี้ซับซ้อนมากค่ะ ถ้าไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชีววิทยา อาจจะงงๆ กันไปข้ามปีเลยทีเดียว

เรามาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่า การกำเนิดของทารกคนหนึ่งโดยธรรมชาติเกิดจากไข่ในรังไข่ของแม่ปฏิสนธิกับอสุจิของพ่อ เกิดเป็นตัวอ่อน และฝังตัวในมดลูก เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันเราสามารถนำเซลล์สืบพันธุ์ดังกล่าวออกมาช่วยปฏิสนธินอกร่างกายเกิดเป็นตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการแล้วย้ายกลับเข้ามดลูกของแม่ในภายหลัง เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยากได้มีโอกาสมีบุตรได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอให้เกิดการปฏิสนธิในร่างกาย

การเจริญเติบโตของตัวอ่อนนอกร่างกายนั้นเราสามารถสังเกตและเฝ้าติดตามลักษณะของตัวอ่อนตามระยะจำนวนวันที่เติบโตได้ทุกวัน และสามารถคัดตัวอ่อนที่สมบูรณ์ได้จากลักษณะการเติบโต นอกจากนั้นเรายังสามารถตรวจโครโมโซมตัวอ่อนได้ทุกตัวเพื่อคัดสรรตัวที่ปกติและแข็งแรงที่สุด เพื่อนำกลับไปย้ายเข้ามดลูกให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

เท่าที่ทราบกันอย่างแพร่หลายเรื่องการตรวจโครโมโซมในปัจจุบันก็มีเทคนิคที่พัฒนามากขึ้นตามลำดับ สามารถตรวจได้ครบทั้ง  23 คู่อย่างละเอียดแล้ว ดังนั้นในส่วนของความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรมที่อยู่บนโครโมโซมก็ตรวจกันได้ปกติ

แล้ว Three person baby มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย? จนต้องเกิดเป็น breaking news กันล่ะคะ

ก็เพราะมันมีโรคหายากบางโรคที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปที่ตัวอ่อน เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ถึงขั้นเด็กไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ หรือถ้ารอดมาได้ก็อายุสั้นมาก โรคนั้นคือ Mitochondrial disease

Mitochondria คือส่วนหนึ่งของเซลล์ในร่างกาย มีอยู่ทั้งในส่วนนิวเคลียสของเซลล์และส่วนนอกนิวเคลียสบริเวณ cytoplasm ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ โดยการเปลี่ยนแปลงอาหารเซลล์ให้เป็นพลังงานในการทำงานของเซลล์ ถ้าผิดปกติ เซลล์นั้นก็จะทำงานไม่ได้ เช่น ถ้าเกิดความผิดปกติที่กล้ามเนื้อตาก็จะทำให้หนังตาตก จอประสาทตาผิดปกติ ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเกิดการนำไฟฟ้าผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดหัวใจวายได้ หรือถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อทั่วไปก็จะเกิดการอ่อนแรงของแขนขา อาการต่างๆ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค การรักษาโรคนี้ยังไม่มีทางที่จะรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงประคับประคอง บรรเทาอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมา ดังนั้นคนที่เป็นโรคนี้ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก อายุสั้น แถมความผิดปกติของไมโตคอนเดรียยังจะถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมของแม่สู่ลูกโดยตรง

เมื่อความท้าทายบังเกิดขึ้นบนโลกของเทคโนโลยีการแพทย์ การพยายามช่วยให้โรคนี้หยุดการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจึงได้กระตุ้นให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ขึ้น

นั่นคือ การเปลี่ยนถ่ายไมโตคอนเดรียให้กับเซลล์ไข่ก่อนการปฏิสนธิหรือตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าฝังตัวในโพรงมดลูก หากว่าโรคนั้นเป็นโรคของไมโตคอนเดรียในนิวเคลียสก็จะทำการย้ายนิวเคลียสใหม่ให้ หากว่าโรคนั้นเกิดที่ไซโตพลาสซึมก็จะทำการเปลี่ยนไซโตพลาสซึมใหม่ให้

ถ้าเป็นการย้ายสิ่งใหม่ให้กับเซลล์ไข่ก่อนปฏิสนธิจะยากกว่าและซับซ้อนในระดับโมเลกุลมากกว่า เพราะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกในส่วนประกอบละเอียดของไข่มากกว่าเพื่อทำให้สามารถแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมหลังการปฏิสนธิได้โดยเริ่มจากการแยกเซลล์นิวเคลียสและไซโตพลาสซึมของไข่ออก จากนั้นทำการเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสหรือไซโตพลาสซึมใหม่ให้กับไข่ตามข้อบ่งชี้ที่ต้องการยุติการถ่ายทอดพันธุกรรมส่วนใด จากนั้นทำให้เกิดกลไกการปฏิสนธิโดยการใส่นิวเคลียสของสเปิร์ม และทำการเลี้ยงให้เป็นตัวอ่อนพร้อมย้ายเข้าโพรงมดลูกต่อไป

ส่วนการเปลี่ยนถ่ายสิ่งใหม่ให้ตัวอ่อน จะเริ่มต้นจากการทำเด็กหลอดแก้วของพ่อกับแม่ที่แท้จริง ได้ตัวอ่อนมา และ อีกชุดนึงทำเด็กหลอดแก้วจากอสุจิของพ่อและไข่บริจาคจากผู้หญิงอีกคน เพื่อให้เกิดไมโตคอนเดรียปกติ จากนั้นจึงทำการแยกเซลล์นิวเคลียสและไซโตพลาสซึมของทั้ง2 ตัวอ่อน ทำการเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสหรือไซโตพลาสซึมใหม่ให้กับตัวอ่อนและทำการเลี้ยงตัวอ่อนต่อจนกระทั่งเซลล์เจริญเติบโตต่อได้และย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกของแม่ที่เป็นโรค เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ทารกต่อไป 

นั่นล่ะค่ะ เป็นที่มาของการได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่เกิดจากสารพันธุกรรมของคน 3 คน จึงชื่อว่า Three person baby

ฟังดูอเมซิ่งเทคโนโลยีดีมั๊ยคะ ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า แล้วแบบนี้เวลาพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูกจะได้ผลออกมายังไง?

ก็แน่นอนค่ะ ได้จากอสุจิพ่อเต็มๆ ก็ย่อมพบ DNA ของพ่อชัดเจน ส่วนความเป็นแม่ลูกก็ขึ้นกับนิวเคลียสของเซลล์ค่ะ ถ้าใช้นิวเคลียสแม่ที่แท้จริง แล้วใช้ไซโตพลาสซึมจากผู้บริจาคจะเจอ DNA ของแม่ที่แท้จริงค่ะ แต่ถ้าเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสก็จะไม่พบว่าเป็น DNA แม่ลูกค่ะ

คำถามสุดท้าย..ทำกันได้ง่ายๆเลยมั๊ย ไม่เลยค่ะ ทั้งด้วยกรรมวิธี และเทคโนโลยีที่ต้องละเอียดอ่อน อีกทั้งยังต้องมีในเรื่องจริยธรรมการเปลี่ยนถ่ายเซลล์สืบพันธุ์อีกด้วย ดังนั้นในบางประเทศยังคงเป็นกฏหมายห้ามทำเด็ดขาด ส่วนในประเทศไทย ด้วยว่าโรคความผิดปกติไมโตคอนเดรียหายากมาก ในไทยเท่าที่ทราบยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจน เป็นเพียงรายงานเป็นเคสๆ ที่พบ ในรอบ 20 ปี น่าจะพบไม่ถึง 5 เคสเลยค่ะ และส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่ขวบปีแรก ยังไม่ได้อยู่จนถึงอายุสืบพันธุ์ที่ต้องทำการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วเลย 

ก็นับว่าเป็นข่าวดีแห่งวงการแพทย์ที่เราเอาชนะธรรมชาติของโรคภัยได้เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่เคยหยุดยั้ง วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสิ่งใหม่ อนาคตย่อมต้องดีมากขึ้นไปเรื่อยๆ อีกหลายเท่าตัวค่ะ

โดย พญ.อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success