พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

ห้องถาม - ตอบ

สุขภาพจิต

  • Q ลูกโกหก

    05-03-2017 17:03:43

    สวัสดีค่ะ ลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่นชายค่ะ เริ่มจับได้ว่าลูกโกหกหนักขึ้นค่ะ ทั้งๆที่ลูกก็รักเรามาก แต่ยอมรับว่าแม่เป็นคนโมโหร้าย เพราะลาออกจากงานมาดูแลลูก ซึ่งพ่อปล่อยให้เป็นหน้าที่แม่ทุกอย่าง และมักจะบอกว่าแม่ว่าง ซึ่งจากที่ลาออกจากงาน เราก็เครียดมากแล้ว คชจ.ตอนทำงานต่างคนต่างใช้แยกกระเป๋า ยกเว้นเรื่องลูกหารครึ่ง ลาออกใหม่ๆใช้เงินตัวเองตลอด จนหลังๆไม่ไหว เพราะเราไม่มีรายได้ เริ่มมีปัญหาเรื่อง คชจ. แต่ตอนนี้เริ่มโอเคขึ้น แต่แม่ก็ยังมีอารมณ์เมื่อลูกผิด บางครั้งมารู้สึกทีหลังว่าเล็กน้อยแต่เราเหมือนคนบ้าโวยวาย จนติดนิสัย ทำให้ลูกเริ่มโกหก ทำสอบไม่ได้บอกได้ ผลออกมา ตก มีเรื่องกะเพื่อนโดนเพื่อนทำร้ายไม่กล้าบอกแม่ กลัวแม่เอาเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้เริ่มคิดว่าแม่เป็นโรคจิตหรือเปล่าค่ะ แต่แม่เริ่มผ่อนลงและคุยกับลูกว่าแม่จะอ่อนลงให้เค้าตัดสินใจเอง แม่คิดถูกไหมคะ ลูกชายอายุ 13 เป็นลูกคนเดียวค่ะ


    06-03-2017 09:07:59

    1. ปัญหาดังกล่าว คงไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง คงต้องมองเป็น " ปัญหาของระบบครอบครัว " 

    1.1 คุณแม่  

    - ที่ต้องเสียสละออกจากงานมาดูลูก โดยทั่วไปอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เลยทุ่มเทพลังทั้งหมดไปที่การดูแลลูก ดูแลบ้าน ผูกคุณค่าของตัวเองทั้งหมดไว้กับลูก เมื่อลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ก็จะมีอารมณ์ได้ง่าย

    - ร่วมกับการที่ สามี ไม่ให้ความเข้าใจ เห็นใจ หรือแม้กระทั่งการให้กำลังใจ ก็ยิ่งทำให้ เกิดอารมณ์ เบื่อ ท้อ หงุดหงิด ได้มากขึ้น

    1.2 คุณพ่อ

    - อาจมีความคิดว่า ตัวเองทำงานนอกบ้านแล้ว และอยากให้สิทธิภายในบ้านเป็นของคุณแม่คนเดียว

    1.3 ลูกชาย

    - ด้วยความรักแม่ และคงกลัวแม่เสียใจ ในกรณีที่ตัวเค้าประเมินแล้วว่า ถ้าบอกอะไรออกไปจะทำให้แม่โมโห เค้าคงเลือกที่จะไม่บอกความจริง

    ตามทฤษฎีของหน้าที่ครอบครัว (Mc Master Model) หน้าที่ของครอบครัว ที่สำคัญคือ

         1. การสื่อสาร 

             - ในกรณีนี้ จะเห็นว่าในครอบครัวไม่มีการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา อย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารโดยใช้            I message เช่น แม่อยากให้พ่อมาช่วยคุยกับลูกให้หน่อย ช่วงนี้แม่เหนื่อยมากเลย , แม่รู้ว่าที่หนูไม่พูด            ความจริงคงเพราะหนูกลัว แต่แม่จะดีใจมากถ้าลูกมาบอกความจริงกับแม่ 

         2. การตอบสนองทางอารมณ์

             - ตัวคุณแม่เอง คงอยากให้คุณพ่อหรือลูก  มาเข้าใจ ให้กำลังใจ ว่าตัวเองเหนื่อย ตรงนี้ถ้าคุณพ่อเข้าใจ            และช่วยเหลือ คงทำให้ตัวคุณเองมีแรงในการจัดการกับอารมณ์ได้มากขึ้น

             - ตัวลูกชายเองก็เช่นกัน ถ้าเวลาที่เค้ามาเล่าเรื่องที่ไม่ดี ให้ทราบตามความจริง แล้ว มีการตอบสนองทาง            อารมณ์ที่เหมาะสม ลูกก็จะกล้าเล่าความจริงมากขึ้น เช่น แม่เข้าใจว่าหนูคงไม่ได้ตั้งใจให้เกิดเรื่องนั้น                ไหนลองเล่าให้แม่ฟังสิว่าเกิดอะไรขึ้น

         3. การเข้าไปเกี่ยวข้องกับอีกคน

             - แม้ว่าจะเป็นครอบครัว แต่สมาชิกแต่ละคนก็เหมือนเป็น คน คนหนึ่งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น เป็นวัย           ที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบการควบคุม อยากเลือกอะไรด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ เป็นเพียงแค่คนที่           ช่วยออกความเห็น ให้คำปรึกษา มาร่วมกันมองหาข้อดีข้อเสีย ถ้าพ่อแม่ยังควบคุม หรือจัดแจงแทนเค้า           เยอะเกินไป ก็อาจทำให้เค้าอึดอัดได้ และเลือกที่จะโกหกแทนได้

             - หรือแม้กระทั่งการที่สมาชิกคนใดคนหนึ่ง ห่างเหิน ออกไป เช่นคุณพ่อที่ไม่เข้ามาช่วยปัญหาในครอบครัว           ก็มีผลกระทบกับสมาชิกที่เหลือในครอบครัว


         4. การควบคุมพฤติกรรม หรือ กฏ ในบ้าน

            - ในบ้านควรมีกฎ ให้ชัดเจน ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่สมาชิกในบ้านห้ามทำ แล้วมีกติกา ในการลงโทษ ที่               ชัดเจน เช่น ชุดชั้นใน เป็นงานส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบเอง

         5. การแก้ปัญหาร่วมกัน

            - ปัญหาที่ว่าดังกล่าว ไม่ใช่เป็นปัญหาของคนใดคน หนึ่ง อาจต้องหาเวลา ที่อารมณ์ดีๆ มานั่งคุยกัน ว่า           แต่ละคนจะช่วยแก้ปัญหาของครอบครัว ที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้อย่างไรบ้าง


    2. และคงต้องช่วยหาสาเหตุ ปัญหาการเรียนที่แย่ลงของเด็ก ด้วย เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า การถูกเพื่อนรังแก ในโรงเรียน จนทำให้เด็กไม่กล้าบอกความจริง หรือแม้กระทั่งภาวะอารมณ์ของคุณเองอาจเป็นภาวะเครียด หรือจนถึงภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ที่ทำให้การคุมอารมณ์ทำได้ยากมากขึ้นแม้ว่าจะพยายามแล้ว 

           ในเบื้องต้นหมอแนะนำว่า น่าจะหาช่วงเวลาดีๆ คุยกับสามีเรื่องที่คุณอยากให้เค้าเข้ามาช่วยดูแลปัญหาในครอบครัว คุยกับลูกถึงปัญหา ความรู้สึกของเค้า ทั้งนี้หมอแนะนำว่าอาจพาลูกชายไปขอคำปรึกษากับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอีกครั้งเพื่อประเมินถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยละเอียดอีกครั้งค่ะ

           สุดท้ายหมอเห็นถึงความรัก ความเอาใจใส่ ที่คุณมีให้ลูก แต่คุณเองก็คงเหนื่อยกับการที่เอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับความสำเร็จของลูก โดยที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทุ่มเทไป หมอว่าอาจถึงเวลาที่คุณจะชื่นชมตัวเอง ในส่ิงที่ทำ แม้ว่าอาจไม่ได้ตามผลที่คาดหวังไว้นะคะ 



Loading ...
Success