พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

ห้องถาม - ตอบ

กระดูกและข้อ

  • Q หัวกระดูกสะโพกขาดเลือด

    18-08-2017 08:30:30

    เป็น SLE มาประมาณเกือบ 4 ปี ตอนอาการหนักทานยาสเตียรอยด์ 12 เม็ดต่อวัน ทุกวันนี้อาการดีขึ้นทานสเตียรอยด์วันละ 2 เม็ด ผลที่เกิดขึ้นทำให้เริ่มปวดสะโพก ผล MRI บ่งชี้ว่าเป็นหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด ตอนนี้จะปวดสะโพกตอนเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ตอนนั่งและเดินจะไม่ปวดสะโพก แต่มีปัญหาปวดเข่าเวลาเดิน อยากเรียนถามว่า 1. ถ้าอาการประมาณนี้จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเลยหรือไม่ 2. ความรุนแรงของอาการขนาดใดจึงควรจะผ่าตัดทันที 3. การผ่าตัดแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อเทียบกับการผ่าด้านหลังต่างกันอย่างไร 4. ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทั้งสองแบบราคาประมาณเท่าไหร่ 5. มีวิธีการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดหรือเปล่า 6. ช่วงระหว่างรอมีวิธีบำบัดอาการปวดเข่าได้อย่างไรบ้าง


    20-08-2017 15:10:57

    สวัสดีครับ

    ขออนุญาตตอบเป็นข้อๆนะครับ

    1-2. อาการที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัดคือ อาการปวดสะโพกเรื้อรัง ปวดเวลาเปลี่ยนท่าทาง ข้อสะโพกเสื่อมที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเดินขึ้นลงบันได การออกกำลังกาย ไปจนถึงการนอนหลับพักผ่อน และหากรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมคือ วิธีการรักษาที่ช่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้งครับ นอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว ระยะของโรคก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการพิจารณาการรักษาครับ ซึ่งระยะของโรคนั้นจะเห็นได้จาก x-ray MRI ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อวางแผนร่วมกันในการรักษาครับ

    3/5. การรักษาข้อสะโพกเสื่อมหรือกระดูกสะโพกตาย ในระยะเริ่มแรก อาจใช้วิธีการรักษาด้วยยา เช่น ให้ยาลดอาการอักเสบและอาการปวด ร่วมกับทำกายภาพเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อข้อสะโพก แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด

    การผ่าตัดข้อสะโพกด้วยวิธีดั้งเดิมจะทำการผ่าตัดโดยวิธีหลักๆ 2 วิธี คือ

    1. การผ่าตัดโดยเปิดแผลเข้าทางด้านหลัง (Posterior approach) ซึ่งเป็น บริเวณที่มีกล้ามเนื้อเยอะ ในการผ่าตัดจำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อออก เพื่อใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไปแล้วจึงเย็บกล้ามเนื้อกลับ เข้าไปอีกครั้ง การฟื้นตัวค่อนข้างช้าเพราะมีการตัดกล้ามเนื้อ อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน 8-12 สัปดาห์ ที่สำคัญคือ มีโอกาสที่ผ่าตัดไปแล้วจะเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดตั้งแต่ 0.5-2%

    2. การผ่าตัดเข้าทางด้านข้าง (Lateral approach) ซึ่งก็เป็นการผ่าตัดที่ต้องทำการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพก ออกเช่นเดียวกัน และการผ่าตัดโดยเข้าทางด้านข้างนี้  เนื่องจากต้องมีการตัดกล้ามเนื้อสำคัญในการเดิน การตัดกล้ามเนื้อระหว่างการผ่าตัด จะส่งผลให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดของคนไข้ช้าลง บางรายหลังผ่าตัดยังเดินไม่สะดวก ต้อง อาศัยไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยการเดิน รวมถึงอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดมี มากกว่า

    ล่าสุดมี เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า ‘Direct Anterior Approach Total Hip Replacement’ ซึ่งเป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป

    ‘การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ’ เป็นการผ่าตัดทางเลือกใหม่ที่แตกต่างจากวิธีการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม เป็นการผ่าตัดโดยการเข้าทางด้านหน้า ซึ่งเป็นการเข้าระหว่างกล้ามเนื้อ Tensor fascia lata และ Sartorius ซึ่งจะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ ขณะผ่าตัดเลย และจะใช้เครื่องมือพิเศษแหวกกล้ามเนื้อเข้าไปและยกกระดูกขึ้นเพื่อใส่ข้อสะโพก เทียมเข้าไป

    การผ่าตัดแบบนี้ กล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะบอบช้ำน้อยกว่า ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดี และเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก ในบางรายสามารถเดินได้ทันทีหลังผ่าตัด แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถควบคุมความสั้นยาวของขาหลังผ่าตัดได้ง่ายกว่า มีโอกาสข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดน้อย เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อสะโพกมีความมั่นคง และที่สำคัญอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยมาก

    การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ด้วยเทคนิกซ่อนแผลผ่าตัด ไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ ทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เจ็บปวดน้อย หลังผ่าตัดสามารถเดินได้โดยไม่มีการเอียงของลำตัว (Limping) กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงของข้อสะโพกเทียมหลุดหลังผ่าตัด เนื่องจากกล้ามเนื้อด้านหลังไม่ได้ถูกตัด และด้วยเทคนิกการผ่าเข้าทางด้านหน้าช่วยเพิ่มความแม่นยำในการควบคุมความยาวของขาให้เท่ากัน โดยแพทย์จะใช้ Digital Template Surgical Planning วางแผนก่อนผ่าตัดกระดูกและเลือกขนาดข้อเทียมที่เหมาะสม ร่วมกับการใช้ C-arm x-ray วางตำแหน่งข้อเทียมให้ถูกต้องขณะผ่าตัดอีกครั้ง

    ต่างจากการผ่าตัดแบบเดิมที่เปิดแผลผ่าตัดทางด้านหลัง (Posterior approach) หรือทางด้านข้าง (Lateral approach) ซึ่งมีการตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกส่งผลให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้น แผลผ่าตัดยาว 6-8 นิ้ว การฟื้นตัวหลังผ่าตัดช้าลง เสี่ยงข้อสะโพกเทียมหลุดหลังผ่าตัด และขายาวไม่เท่ากันหลังผ่าตัด

     

    4. ค่าใช้จ่าย จะขึ้นอยู่กับอายุ กิจกรรมของผู้ป่วย ซึ่งจะใช้ข้อสะโพกเทียมในลักษณะที่แตกต่างกันครับ เช่น ข้อสะโพกเทียมแบบเหล็กหรือข้อสะโพกเทียมแบบ ceramic สามารถติดต่อทำนัดเพื่อตรวจดูได้ครับผม

    6. อาการปวดเข่าอาจเกิดจากโรคข้อสะโพกที่เป็นอยู่ได้ครับ (refer pain) เมื่อรักษาสะโพกแล้ว อาการต่างๆ เหล่านี้จะหายไปครับ

    รายละเอียดเพิ่มเติมครับ

    http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/center-of-excellence/bone/hip-knee-center#tab3

    http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/direct-anterior-approach-cosmetic-incision-hip-replacement-1

    หากมีคำถามใดสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ครับ

    ขอบพระคุณครับ

    นพ.พนธกร


    21-08-2017 08:56:21

    ขอบพระคุณคุณหมอมากครับ รบกวนสอบถามเพิ่มเติมว่าในกรณีที่ยังไม่ได้ผ่าตัด ต้องระวังตัวอย่างไรบ้างครับ

Loading ...
Success