สำรวจอาการบ่งชี้โรคต้อหินกันค่ะ

ต้อหินมุมปิดแบบเฉียบพลัน พบได้มากในเอเชีย โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้สูงอายุและผู้ที่มีสายตายาว (ที่ไม่ใช่สายตายาวของผู้สูงอายุที่มองใกล้ไม่ชัดแล้วต้องใส่แว่นอ่านหนังสือนะคะ) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวลง บางรายอาจมีต้อกระจกที่สุกมากร่วมด้วย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นขึ้นมาฉับพลันทันทีและมีอาการที่รุนแรงทำให้ผู้ป่วยทรมานมาก จึงควรรีบมาพบแพทย์
การรักษา โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะทำ 2 ขั้นตอน คือ
1. ลดความดันลูกตาของผู้ป่วยลงให้เร็วที่สุด ด้วยยา (มักใช้ร่วมกันทั้งยาหยอด, ยารับประทานหรือบางรายอาจต้องให้ยาทางหลอดเลือดดำ) แต่ถ้าความดันตาไม่ลดแพทย์อาจพิจารณาเจาะระบายน้ำออกจากลูกตา เพราะอย่างที่ทราบกันว่าความดันลูกตาที่สูงจะทำลายเส้นประสาทตา ดังนั้นถ้าเราสามารถลดความดันตาลงได้เร็วก็จะเป็นการลดการสูญเสียการมองเห็น ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยอีกด้วย
2. การลดความดันลูกตาด้วยยาหรือการเจาะระบายน้ำออกจากลูกตา เป็นการลดความดันตาที่ให้ผลชั่วคราว จักษุแพทย์จึงต้องทำการเปิดมุมตา โดยทั่วไปจะใช้วิธียิงแสงเลเซอร์ไปที่ม่านตา เพื่อเปิดทางระบายของน้ำออกจากลูกตาตามทางธรรมชาติที่อยู่ตรงตำแหน่งมุมตา
รู้หรือไม่ว่า... เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมุมปิดแบบเฉียบพลันได้ โดยการยิงเลเซอร์ที่ม่านตาแบบเดียวกับที่ใช้ยิงเพื่อรักษาเมื่อเกิดอาการของโรคแล้ว แต่จะพิจารณายิงเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยง คือ มีมุมตาแคบ ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยค่ะว่าเรามีมุมตาที่แคบหรือไม่ เสี่ยงต้อการเกิดต้อหินมุมปิดแบบเฉียบพลันหรือไม่ จนกว่าจะได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์
จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรไปตรวจคัดกรองต้อหิน
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป
- มีประวัติต้อหินในครอบครัว
- เคยใช้ยาสเตียรอยด์ในทุกรูปแบบ
- สายตาสั้นหรือสายตายาวมากๆ
- เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น โดนลูกบอลกระแทกตา โดนต่อย
- ผู้ที่เป็นเบาหวานก็มีความเสี่ยงมากขึ้น
ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่าลืมไปตรวจสุขภาพตากันนะคะ โดยจักษุแพทย์จะทำการตรวจคัดกรองต้อหินทั้งมุมเปิดและมุมปิดไปด้วยกันเลยค่ะ
***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ