พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

3 วิธีง่ายๆ บอกลากลิ่นเหงื่อรักแร้!!

 

ช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ สาวๆ หนุ่มๆ ทั้งหลาย คงลำบากใจกับปัญหากลิ่นตัวและเหงื่อออกมากที่รักแร้กันนะคะ
เฮ้อ... ช่างน่ารำคาญชะมัด ยิ่งใครต้องไปติดต่องาน หรือต้องไปพบปะพูดคุยกับผู้คน เราคงไม่อยากโชว์จั๊กกะแร้เปียกและไม่อยากให้ใครเบือนหน้าหนีเราเพราะกลิ่นกายไม่พึงประสงค์เป็นแน่  

จริงๆ การรักษาเหงื่อรักแร้ออกมากมีหลายวิธีนะคะ ทั้งยาทา, ยารับประทาน, ปรับอาหาร, และการฉีด botulinum toxin เป็นต้น 
วันนี้หมอเลยขอมาเล่าถึง 3 วิธีง่ายๆ ในการลดปริมาณเหงื่อและกลิ่นเหงื่อรักแร้ค่ะ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้มีปัญหานี้  

1) การลดอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เหงื่อออกมาก ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน กาแฟ ชา น้ำอัดลม รวมถึงชอคโกแลต ถ้าหากลดปริมาณอาหารเหล่านี้ลง จะช่วยลดเหงื่อในกรณีของคนที่มีอาการเหงื่อออกไม่มากได้นะคะ

2) ยาทาลดการขับเหงื่อและยาทาดับกลิ่น (topical antiperspirants and deodorants) จะช่วยในเรื่องของการระงับกลิ่น เริ่มตั้งแต่พวกโรลออนระงับกลิ่นกายต่างๆ, สบู่ที่ช่วยลดแบคทีเรียฟอกบริเวณรักแร้, และยาทา 10% หรือ 20% aluminum chloride ทารักแร้ก่อนนอน ซึ่งยาชนิดนี้ได้ผลดี แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ในบางรายนะคะ ถ้าหากใช้ยาแล้วมีอาการระคายเคือง ควรหยุดใช้ หรือเว้นระยะห่างสักพักแล้วค่อยกลับมาใช้ยาค่ะ

3) การฉีด Botulinum toxin หรือ โบท็อกซ์ ที่เราเรียกติดปากกันนั่นเองค่ะ 
ใช่แล้วค่ะ Botulinum toxin ที่เราคุ้นเคย ไม่เพียงแต่สามารถช่วยลดริ้วรอยจากการทำงานของกล้ามเนื้อเท่านั้นนะคะ ยังสามารถช่วยลดปริมาณเหงื่อที่ออกมากได้อีกด้วยค่ะ
การฉีด Botulinum toxin เพื่อลดปริมาณเหงื่อที่รักแร้ เป็นการฉีดเข้าไปที่ชั้นใต้ผิวหนังบริเวณที่มีต่อมเหงื่ออยู่ค่ะ มีการศึกษาพบว่า สังเกตเห็นเหงื่อลดลงได้ภายในสามวัน และการฉีด 1 ครั้ง อยู่ได้นาน ประมาณ 8-12 เดือน เมื่อฉีดในขนาดประมาณ 50 unit หรือมากกว่า ต่อหนึ่งข้างรักแร้ค่ะ โดยที่ปริมาณยาที่ฉีดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหงื่อที่ออก, ชนิดยาที่ใช้, การผสมยา, และการกระจายยาค่ะ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประเมินจากแพทย์ผู้รักษาค่ะ

ถ้าใครกำลังมองหาทางออกในการลดกลิ่นเหงื่อ กลิ่นตัว รักแร้เปียก หมอหวังว่านี่จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาหนักใจหนักรักแร้ของใครหลายๆ คนได้นะคะ

โดย พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย 

Reference: Fitzpatrick's Dermatology in general medicine, 8th edition

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success