พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

เลือกแว่นกันแดดอย่างไร? ให้ถนอมดวงตา


แสงแดด กับ ดวงตา
Sunlight and The Eyes

ช่วงนี้เดินไปไหนเราก็จะได้ยินคนพูดถึงความร้อนแรงของแสงแดด บางคนก็เลี่ยงที่จะไม่ออกจากออฟฟิศ ตอนกลางวัน บางคนถ้าจำเป็นต้องออกไปก็มักจะพกร่มติดตัวไปด้วยเพื่อป้องการผิวหน้าและผิวกายจากแสงแดด จริงๆ ยังมีอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราควรปกป้องจากแสงแดดนอกจากผิว นั่นก็คือ ดวงตา ค่ะ แต่แว่นกันแดดกลับเป็นสิ่งที่เราพบเห็นคนสวมใส่น้อยมากในประเทศไทย อาจเป็นเพราะความเคอะเขินหรือไม่เคยชินของสังคมเรา ทั้งที่การปกป้องดวงตาจากแสงแดดเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสงแดดนั้นทำให้เกิดผลเสียมากมายต่อดวงตาได้

ในแสงแดดที่ส่องตรงจากดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศมาถึงพื้นผิวโลกของเรานั้นมีส่วนประกอบของรังสีต่างๆ มากมาย ที่แบ่งตามความยาวของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้เป็น

  1. แสงอัลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet light) หรือที่เรามักเรียกว่า แสงยูวี (UV light) ประกอบด้วยแสง 3 ช่วงความยาวคลื่น คือ UVA, UVB และ UVC โดยที่ UVC จะไม่พบบนพื้นผิวโลกพราะถูกดูดกลืนโดยชั้นบรรยากาศ
  2. แสงที่ตามองเห็น (Visible light) มีแสงในช่วงแสงสีฟ้า หรือ High-energy visible light ที่สามารถส่งผลเสียต่อตาได้
  3. แสงอินฟราเรด (Infrared light) เป็นแสงที่ไม่มีผลต่อดวงตา

แสงแดดส่งผลอย่างไรกับดวงตา

แสงแดดมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกมากมาย นอกจากจะให้ความสว่างและให้พลังงานเพื่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังช่วยในการสังเคราะห์แสงพืช สำหรับมนุษย์แล้วแสงแดดก็ยังช่วยในการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนัง แต่แสงแดดก็ส่งผลเสียต่อร่างกายของคนเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อแสง ส่วนประกอบแสงแดดแต่ละส่วนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทั้งความยาวคลื่น (wave length) และพลังงาน(energy) จึงส่งผลต่อส่วนต่างๆ ของตา แตกต่างกันดังนี้

แสง UVB เป็นแสงที่มีพลังงานสูง ที่จะถูกดูดซับโดยเนื้อเยื่อที่อยู่ในชั้นตื้นๆ ได้แก่

     เปลือกตา ทำให้ผิวหนังบริเวณเปลือกตาไหม้

     เยื่อบุตาและกระตกตา ทำให้เกิด ต้อเนื้อ ต้อลม กระจกตาและเยื่อบุตาอักเสบ (Photokeratitis and conjunctivitis)

แสง UVA เป็นแสงที่มีพลังงานต่ำกว่า UVB และ UVC สามารถทะลุผ่านเนื้อเยื่อของตาเข้าไปในชั้นที่ลึกกว่า จึงส่งผลต่อ

      เลนส์ตา ทำให้เกิด ต้อกระจกได้

      จอประสาทตา จากการศึกษาพบว่าแสงอัลตร้าไวโอเลตมีส่วนสำคัญในการเกิดจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age related macular degeneration) นอกจากนี้การจ้องแสงแดดจัดมากๆ เช่น แสงแดดที่สะท้อนจากหิมะ การมองแสงอาทิตย์ตรงๆ อาจทำให้เกิดจอตาเสื่อมได้ (Solar retinopathy หรือ Snow blindness)

แสงพลังงานพลังงานสูงที่ตามองเห็น (High-energy visible light) หรือที่เราเรียกว่าแสงสีฟ้า (Blue light)

จากการศึกษาพบว่า แสงสีฟ้า ร่วมกันการที่มีความเข้มข้นของวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดต่ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม (Age related macular degeneration) ที่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้

ดังนั้นเมื่อต้องอยู่ในที่ที่มีแสงแดดจัดเราจึงควรปกป้องดวงตาของเราด้วยการใส่แว่นตากันแดด

การเลือกแว่นตากันแดด

  • ควรเลือกแว่นกันแดดที่ป้องกัน UVA และ UVB ได้ตั้งแต่ 99% ขึ้นไป โดยสังเกตจากป้ายที่ระบุที่ตัวแว่น ถ้าไม่มั่นใจสามารถนำแว่นมาตรวจความสามารถในการกรองแสง UV ได้ที่โรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตร
  • สีและความเข้มของเลนส์ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพในการกรองแสง UV แต่สำหรับแสงสีฟ้า สีของเลนส์ที่สามารถกรองแสงสีฟ้าได้ดีคือ สีโทนเหลือง, สีบรอนซ์, สีทองแดง หรือสีน้ำตาลแดง
  • การเลือกแว่นที่มีกรอบขนาดใหญ่นอกจากจะช่วยป้องกันดวงตาจากแสงแดดแล้วยังช่วยให้เปลือกตาและผิวหนังบริเวณรอบดวงตาได้รับการปกป้องไปด้วย

ข้อควรปฏิบัติในการใช้แว่นตากันแดด

  • นอกจากการใส่แว่นตากันแดดทุกครั้งที่ออกแดดแล้ว เวลาที่เราอยู่ในที่ร่มที่แดดส่องถึงหรือแสงสะท้อนจากแสงแดด (เช่น สะท้อนจากพื้นถนน สะท้อนจากผนังหรือกำแพง) ก็ควรสวมแว่นตากันแดดด้วย ถึงแม้ว่าจะใส่คอนแทคเลนส์ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันแสง UV (สังเกตจากบรรจุภัณฑ์ที่ใส่คอนแทคเลนส์จะมีข้อความระบุว่า ‘UV blocking’) ก็ควรที่จะใส่แว่นตากันแดดร่วมด้วย เพราะการใส่แว่นตาจะช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดในส่วนที่อยู่นอกเหนือจากส่วนที่คอนแทคเลนส์ คลุมอยู่ เช่น เยื่อบุตา เปลือกตา และผิวหนังรอบดวงตา
  • การอยู่ในที่ที่มีหิมะหรือน้ำแข็ง จะทำให้มีแสงสะท้อนขึ้นมาที่ตาเรา ทำให้อันตรายจากแสงแดดเพิ่มขึ้นได้ โดยหิมะสามารถสะท้อนรังสี UV ได้สูงสุดถึง 80% ดังนั้นถ้าต้องเดินทางไปในที่ที่มีหิมะควรสวมแว่นตากันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV ได้ดี

อย่าลืมปกป้องดวงตาของเราโดยการเลือกและสวมแว่นตากันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายจากแสงแดดกันนะคะ

โดย พญ.วิรัญญา วชิรศักดิ์ชัย

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success