พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

สัปดาห์ต้อหินโลก World Glaucoma Week

 

สัปดาห์ต้อหินโลก

มารู้จัก 'สัปดาห์ต้อหินโลก หรือ World Glaucoma Week’ กันนะคะ

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2551 ในรูปแบบ ‘วันต้อหินโลก หรือ World Glaucoma Day’ ก่อนจะขยายรูปแบบงานเป็น ‘สัปดาห์ต้อหินโลก หรือ World Glaucoma Week’ ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือระหว่าง สมาคมต้อหินโลก (World Glaucoma Association) และสมาคมผู้ป่วยต้อหินโลก (World Glaucoma Patient Association) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการตาบอดจากต้อหิน ให้ความรู้โรคต้อหิน และหวังให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองต้อหิน ในปีนี้ ได้กำหนดให้วันที่ 12-18 มีนาคม 2560 เป็นสัปดาห์ต้อหินโลก การรณรงค์นี้จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ภายใต้ theme งานที่ว่า ‘Beat Invisible Glaucoma (BIG) หรือ รวมพลังระวังต้อหิน ภัยมืดที่มองไม่เห็น’

ในประเทศไทยเราก็ได้มีการจัดกิจกรรมสัปดาห์ต้อหินโลกขึ้นในหลายๆ โรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด  รูปแบบกิจกรรมมีทั้งนิทรรศการให้ความรู้เรื่องต้อหิน เวทีเสวนา และการตรวจคัดกรองต้อหินโดยจักษุแพทย์ นอกจากนี้ทางชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย ก็ได้จัดทำสื่อที่จะให้ความรู้เรื่องโรคต้อหินทั้งในรูปแบบแผ่นพับ โปสเตอร์ สื่อออนไลน์ รวมทั้งงานประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และวิทยุ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม ซึ่งเราจะนำสื่อดีๆ และมีประโยชน์เหล่านี้ มาให้ได้ชมในเพจชีวีดอทคอมด้วยค่ะ (Facebook page: Chiiwii.com ตอบคำถามสุขภาพโดยแพทย์) รอติดตามในวันถัดไปนะคะ

ต้อหิน เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของตาบอดถาวร และมีการคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ.2563 จะมีประชากรทั่วโลกเป็นต้อหินถึง 76 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นต้อหินในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ ไม่ทราบว่าตนเองเป็นต้อหินจนกว่าจะได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ หรือการดำเนินของโรคลุกลามไปมากแล้ว และ ถึงแม้ว่าโรคเรื้อรังอย่างต้อหินจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตวจพบและให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยลดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ดังนั้นอย่าลืมไปรับการตรวจคัดกรองต้อหินกันนะคะ

โดย พญ.วิรัญญา วชิรศักดิ์ชัย

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success