ใครควรตรวจคัดกรองต้อหินบ้าง?

‘ต้อหิน’ คืออะไร?
เคยมีคนเข้าใจว่าต้อหินคือโรคที่มีก้อนหินอยู่ในตาถ้าเป็นแล้วมาผ่าตัดเอาก้อนหินออกก็จะหายจากโรค แท้ที่จริงแล้วโรคนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับก้อนหินเลยนะคะ ที่เรียกกันว่า ‘ต้อหิน’ นั้นก็เพราะว่าเป็นคำเปรียบเทียบอาการที่ตรวจเจอว่า จะมีลูกตาแข็งเหมือนก้อนหินเท่านั้นเอง คำเรียกนี้มีมาตั้งแต่ยุคที่เรายังไม่เข้าใจโรคต้อหินมากนักและความรู้ทางการแพทย์ยังไม่พัฒนาอย่างทุกวันนี้ ในอดีตเราเชื่อว่าคนที่เป็นต้อหินทุกรายจะต้องมีความดันลูกตาที่สูง แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ความดันลูกตาเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งในการเกิดต้อหิน พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ที่ความดันลูกตาไม่สูงก็มีโอกาสเป็นต้อหินได้ และในทางกลับกันผู้ที่ความดันลูกตาสูงอาจจะไม่เป็นต้อหินก็ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เราลองมาทำความเข้าใจกับโรคต้อหินกันก่อนค่ะ
‘ต้อหิน’ ตามความหมายที่ถูกต้องคือ กลุ่มโรคเรื้อรังที่มีการเสื่อมของเส้นประสาทตา การดำเนินโรคจะมีความแตกต่างกันในแต่ละราย บ้างเป็นแบบเฉียบพลับทันที บ้างค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อโรคเป็นมากขึ้นลานสายตาหรือความกว้างในการมองเห็นภาพของผู้ป่วยจะแคบลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในที่สุด ดังนั้นความสำคัญอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เราตรวจเจอต้อหินตั้งแต่ระยะต้นๆ และได้เริ่มการรักษาตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีอาการหรือการสูญเสียยังไม่รุนแรง เพื่อลดอัตราการตาบอดจากโรคต้อหิน
ใครบ้างที่ต้องตรวจคัดกรองต้อหิน?
เนื่องจาก 'ต้อหิน เป็นภัยมืดที่มองไม่เห็น' ระยะแรกจึงมักไม่มีอาการให้สังเกตได้ ว่าเริ่มเป็นโรคแล้ว การตรวจคัดกรองจึงมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป
- มีประวัติต้อหินในครอบครัว
- เคยใช้ยาสเตียรอยด์ในทุกรูปแบบ
- สายตาสั้นหรือสายตายาวมากๆ
- เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น โดนลูกบอลกระแทกตา โดนต่อย
- ผู้ที่เป็นเบาหวานก็มีความเสี่ยงมากขึ้น
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์
การตรวจแพทย์จะทำการวัดระดับการมองเห็น วัดความดันตา ตรวจตาอย่างละเอียด บางรายอาจต้องตรวจเครื่องมือพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัยต้อหิน เช่น ตรวจลานสายตา ตรวจขั้วประสาทตา และความหนาของเส้นใยประสาทตา บางครั้งอาจต้องมีการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อให้สามารถตรวจจอประสาทตาได้ชัดเจนและละเอียดยิ่งขึ้น ยาขยายม่านตามีผลให้ตามัวชั่วคราวประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงไม่แนะนำให้ขับรถมาเอง หรือถ้าเป็นไปได้ควรมีคนมาเป็นเพื่อน
เมื่อตรวจทุกอย่างเรียบร้อย แพทย์จะให้คำแนะนำตามผลการตรวจ ถ้าเป็นต้อหินก็จะแนะนำแนวทางการรักษา ถ้าเป็นแค่กลุ่มเสี่ยงก็จะนัดตรวจติดตามอาการ และในรายที่ผลการตรวจปกติ ไม่มีภาวะต้อหิน แนะนำให้ตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตรวจก่อนมีสิทธิ์เจอโรคก่อน ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาก่อนนะคะ ทั้งช่วยชะลออาการของโรคต้อหินอีกด้วยค่ะ
โดย พญ.วิรัญญา วชิรศักดิ์ชัย
***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ