พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

รักษาต้อหินอย่างไร? ไม่ให้ตาบอด

 

ต้อหินมีกี่ประเภท?

ต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีความหลากหลายทั้งในด้านอาการ ความรุนแรง การดำเนินของโรค มีการแบ่งจำแนกชนิดของโรคได้หลายรูปแบบ

ถ้าแบ่งตามระยะเวลาในการเกิดโรค แบ่งได้เป็น
1. ต้อหินเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวลงทันที ในกรณีนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน
2. ต้อหินเรื้อรัง อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองเป็นต้อหินจนกว่าโรคลุกลามมากขึ้นจนลานสายตาแคบลงมากจึงสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้

ถ้าแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรค แบ่งได้เป็น
1. ต้อหินปฐมภูมิ คือ ต้อหินที่ไม่มีสาเหตุจากโรคตาหรือโรคทางร่างกาย
2. ต้อหินทุติยภูมิ คือ ต้อหินที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของตาหรือโรคทางร่างกายอื่นๆ  เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก การอักเสบภายในลูกตา เกิดตามหลังการได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือตามหลังการผ่าตัดตา

ถ้าแบ่งตามลักษณะของมุมตา แบ่งได้เป็น
1. ต้อหินมุมเปิด เป็นต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยกว่า เกิดจากการที่มีการอุดตันทางระบายน้ำออกจากลูกตาที่มีลักษณะเป็นตะแกรงทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น
2. ต้อหินมุมปิด คือ ต้อหินเกิดจากการที่ม่านตาปิดกั้นทางระบายน้ำออกจากลูกตา

การรักษาต้อหิน ทำได้อย่างไร?

หลักการรักษาต้อหิน คือ การควบคุมความดันลูกตาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อดวงตา โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรจะลดความดันลูกตาให้อยู่ที่เท่าไหร่

วิธีการรักษามี 3 วิธี คือ

1. การใช้ยาลดความดันลูกตา ยารักษาต้อหินมีหลายชนิดจะออกฤทธิ์โดยการลดการสร้างหรือเพิ่มการระบายน้ำออกจากลูกตา แพทย์จะเลือกใช้ยาตามความเหมาะสม ข้อบ่งชี้และข้อห้ามใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละราย

2. การใช้เลเซอร์ เลเซอร์ที่ใช้ในการรักษาต้อหินมีหลายรูปแบบ ใช้ได้ทั้งต้อหินชนิดมุมเปิดและมุมปิด ขึ้นกับข้อบ่งชี้ในแต่ละราย

3. การผ่าตัด เป็นการทำทางระบายน้ำออกจากลูกตาทางใหม่ แพทย์มักจะพิจารณาใช้การผ่าตัด เมื่อการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

ในรายที่เป็นต้อหินชนิดทุติยภูมิต้องมีการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อหินควบคู่ไปด้วย ต้อหินเป็นโรคเรื้อรังสิ่งสำคัญของการรักษา คือ ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจในตัวโรค และเห็นความสำคัญของการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด และป้องกันไม่ให้เป็นรุนแรงจนถึงขึ้นตาบอด

สุดท้ายนี้อย่าลืมดูแลตัวคุณเองและคนที่คุณรักด้วยการมาตรวจสุขภาพตาและตรวจคัดกรองต้อหินกันนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะการตรวจคัดกรองต้อหินเป็นวิธีเดียว ที่จะทำให้เราตรวจพบต้อหินตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่โรคยังไม่แสดงอาการ และยังไม่ลุกลามไปสู่ระยะที่มีการสูญเสียการมองเห็น รู้ตัวก่อนมีโอกาสรักษาก่อน ผลการรักษาย่อมดีกว่านะคะ

โดย พญ.วิรัญญา วชิรศักดิ์ชัย

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success