พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

ต้อหินในเด็ก ตรวจและรักษาได้อย่างไร?

 

ต้อหินในเด็กวินิจฉัยได้อย่างไร?

เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคและสรีรวิทยาที่ต่างกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งความร่วมมือในการตรวจในเด็กแต่ละคน แต่ละวัยมีความต่างกัน บางครั้งไม่สามารถตรวจได้ครบทุกเครื่องมือ เฉกเช่นต้อหินในผู้ใหญ่ อีกทั้งค่าปกติในเด็กเองก็ต่างไปจากผู้ใหญ่ และต่างกันไปตามช่วงอายุของเด็ก ดังนั้นการตรวจต้อหินในเด็กเปรียบได้กับการต่อภาพประกอบ และนำเอาภาพประกอบในแต่ละส่วนมารวมกัน ให้เห็นภาพรวมของโรคทั้งในแง่การวินิจฉัย และการตรวจติดตามการดำเนินโรค

การตรวจต่างๆ ที่ทำได้ มีดังนี้

1. การวัดความดันลูกตา จะทำการวัดในเด็กที่ต้องการวินิจฉัยต้อหิน หรือในเด็กที่มีความเสี่ยงในการเป็นต้อหิน การวัดต้องทำในช่วงเวลาที่เด็กสงบ เช่น เวลาที่เด็กหลับ หรือช่วงทานนม โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในเด็กโตบางครั้งสามารถให้ความร่วมมือในการตรวจได้ เครื่องมือในการวัดความดันลูกตา อาจต้องใช้เครื่องมือที่สามารถวัดในท่านอนได้เพื่อความสะดวก

2. ความหนากระจกตา มีผลต่อค่าความดันตา เช่น การกระจกตาบาง มักวัดความดันตาได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซ้ำยังทำให้ประเมินความรุนแรงของโรคน้อยกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกัน ค่าความหนากระจกในเด็กปกติที่อายุน้อยกว่า12 ปีไม่ได้ต่างจากผู้ใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ ควรตรวจเพื่อมองหากระจกตาที่บางกว่าปกติ ดังที่กล่าวไป เพื่อประเมินการรักษาได้อย่างถูกต้อง

3. การตรวจขั้วประสาทตา สามารถช่วยสนันสนุนการวินิจฉัยต้อหินได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ต้องระวังบางภาวะเช่นทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มักจะพบขั้วประสาทตาใหญ่ได้ ถึงแม้ไม่ได้เป็นต้อหิน ขั้วประสาทตาในเด็กต้อหินที่ได้รับการรักษาแล้วความดันลูกตาลง อาจจะกลับมาดูเหมือนปกติซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ แต่ต้องระวังว่าใยประสาทตา อาจถูกทำลายอย่างถาวรไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว

4. ความหนาใยประสาทตา ในเด็กมักมีความต่างกันไปตามช่วงอายุ และเชื้อชาติ หากสามารถตรวจได้ จะมีประโยชน์ในการตรวจติดตาม อาจช่วยในการวินิจฉัยได้ในบางราย

5. ลานสายตา เป็นการตรวจที่ค่อนข้างยาก อาจทั้งไม่สามารถทำได้ในเด็กเล็ก เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือของเด็กในการตรวจ เพื่อให้การแปรผลถูกต้อง

6. การวัดค่าสายตาและแว่นตา เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต่างจากต้อหินผู้ใหญ่ อาจไม่ได้ช่วยในการวินิจฉัยต้อหินเด็กได้ชัดเจน แต่ช่วยในการกระตุ้นการมองเห็นให้เต็มที่ และป้องกันสายตาขี้เกียจ

ส่วนแนวทางการรักษาต้อหินในเด็ก สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด

การรักษาโดยยา

มีหลายประเด็นที่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น ภาวะแทรกซ้อนของยา ข้อห้ามในการใช้ยาบางตัวที่ไม่สามารถใช้ได้ในเด็กเล็ก โรคประจำตัวของเด็กที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการให้ยา อีกทั้งในเรื่องผลการรักษาที่อาจได้ผลต่างจากในผู้ใหญ่

1. ยากลุ่มต้านเบต้า (Beta blocker) เช่น Timolol maleate eye drop ประสิทธิภาพในการรักษาได้ผลดี แต่ในเด็กมีโอกาสที่จะพบภาวะหอบหืด น้ำตาลในเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้า ความดันเลือดต่ำได้มากกว่าผู้ใหญ่ 

2. ยากลุ่มต้านเอมไซม์คาร์บอนิคแอนไฮเดรส (Carbonic anhydrease inhibitor) ทั้งชนิดกินและหยอด เช่น Acetazolamide, Brinzolamide eye drop ได้ผลลดความดันตาได้ดี แต่ในชนิดกินต้องระวังการเกิด ภาวะสมดุลย์กรดด่างในเลือดผิดปกติ ซึ่งมักทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตลดลง

3. ยากลุ่มกระตุ้นแอดรีเนจิก (Adrenergic agonist) โดยเฉพาะ Brimonidine eye drop ซึ่งได้ผลดีในผู้ใหญ่แต่เป็นยาที่ต้องห้ามในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้เกิดการกดสมองในส่วนกลางทำให้เด็กมีการง่วงซึม ความดันต่ำ หัวใจเต้นช้า

4. ยากลุ่มพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เป็นยาที่ลดความดันลูกตาได้ดี ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายน้อยกว่ายากลุ่มอื่น มักถูกเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในการรักษา

อย่างไรก็ตาม ยาที่ใช้ในการรักษาต้อหินในเด็กนั้น ทั้งหมดเป็นยาที่ใช้ในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กการตรวจติดตามผลข้างเคียง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากพอๆ กับประสิทธิภาพในการรักษาของยา

การรักษาโดยการผ่าตัด

1. การผ่าตัดเปิดมุมม่านตา (Angle surgery: Goniotomy and Trabeculotomy) เพื่อทำให้การไหลเวียนของน้ำในตาออกจากตา ได้ง่ายขึ้นเพื่อเป็นการลดความดันตา เป็นการผ่าตัดโดยเฉพาะในเด็กเหมาะในต้อหินชนิดปฐมภูมิ

2. การผ่าตัดทำทางระบายน้ำลูกตา (Filtering surgery: eg.Trabeculectomy) เป็นการผ่าตัดที่นิยมในผู้ใหญ่ ในเด็กโตได้ผลดีเช่นกัน ทำให้น้ำในตาไหลเวียนออกไปในช่องที่สร้างไว้จากการผ่าตัด  แต่ต้องระวังปัญหาความดันตาต่ำมากในช่วงแรก และในเด็กมักลงท้ายด้วย การปิดของช่องทางเดินน้ำ มักต้องมีการผ่าซ้ำ และการดูแลหลังผ่าตัดซับซ้อน

3. การผ่าตัดเพื่อใส่ท่อระบายน้ำออกจากตา (Glaucoma drainage device surgery) เป็นการผ่าตัดเพื่อให้น้ำในตาระบายออกได้อย่างต่อเนื่อง ได้ผลดีทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กบางรายเมื่อเวลาผ่านไปท่ออาจกลับมาอุดตันได้ จึงอาจต้องได้รับการเปลี่ยนท่อหรือใส่ท่อเพิ่ม     

ต้อหินในเด็ก เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของเด็ก และการดำรงชีพของเด็กในระยะยาว  สามารถเกิดได้ในเด็กทุกวัย ความรุนแรงต่างกันไปตามสาเหตุและช่วงอายุที่เกิดโรค มีทั้งต้อหินที่มีอาการแสดงชัดเจน ซึ่งผู้ปกครองมักสังเกตได้และมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงต้นของโรค และในขณะเดียวกันต้อหินในเด็กบางชนิด ไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน ดังนั้นความสำคัญในการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะในเด็กที่มีความเสี่ยง จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อคุณภาพการมองเห็น และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและครอบครัว

โดย นพ.วรากร เทียมทัด

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success