พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

โรคลมชัก 'หายขาด' ได้หรือไม่

 

โรคลมชัก รักษา 'หายขาด' ได้หรือไม่

โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย พบได้ประมาณ 1% ของประชากรไทย นั่นคือ ประมาณ 6 แสนราย ซึ่งอาการของโรคลมชักจะพบได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อาการชักเกร็งกระตุก อย่างที่คนทั่วไปรู้จักกัน นอกจากนั้นยังมีอาการเหม่อนิ่ง มือขยำหยิบจับ มือถูไปมา แขนหรือขาเกร็งกระตุก ก็ยังเป็นอาการของโรคลมชักได้อีกด้วย

สาเหตุของโรคลมชัก มีอยู่หลายสาเหตุ เช่น เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก การติดเชื้อในสมอง เนื้อสมองผิดปกติตั้งแต่กำเนิด และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น

ในอดีตการรักษาโรคลมชักมีเพียงการใช้ยากันชักไม่กี่ชนิด ซึ่งยากันชักรุ่นเก่าซึ่งสามารถควบคุมอาการชักได้ แต่จะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น มีอาการง่วงซึม เวียนศีรษะ เหงือกบวม ตับอักเสบ มีผื่นขึ้น เป็นต้น และการรักษาโรคลมชักด้วยการรับประทานยากันชักเพียงอย่างเดียวควบคุมอาการชักได้เพียง 60-70% แต่ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชักทั้งหมดที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้โดยการใช้ยากันชัก เพราะการใช้ยากันชักเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุของอาการชัก

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคลมชักได้ดีขึ้นมาก เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography: EEG) ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักทุกราย ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อที่จะได้ทราบชนิดของการชักว่าเป็นแบบเฉพาะที่ (focal) หรือแบบแพร่กระจาย (generalized) ซึ่งชนิดของการชักมีความสำคัญต่อการรักษา โดยหากทราบชนิดของการชักจะสามารถเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ทำให้ควบคุมอาการชักได้ดีขึ้น และนอกจากนั้นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ยังสามารถบอกสาเหตุและบริเวณสมองที่เป็นสาเหตุของอาการชักได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการใช้การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ในการตรวจวินิจฉัยรอยโรคของผู้ป่วย ซึ่งเครื่องนี้มีความคมชัดและแม่นยำสูง การตรวจ MRI จะดีกว่าเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography: CT) ในสมัยก่อน ทำให้ก่อนหน้านี้ไม่สามารถหาสาเหตุของโรคลมชักได้อย่างแม่นยำ แต่ปัจจุบันเครื่อง MRI ทำให้เราสามารถหาสาเหตุของโรคลมชักได้ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น

ในส่วนของการรักษา ปัจจุบันมีการพัฒนายากันชักชนิดใหม่ๆ ที่สามารถควบคุมอาการชักได้ดี ปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อย เช่น ทำให้อาการง่วงซึมหรือเวียนศีรษะน้อยลง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีการรักษาโรคลมชักด้วยวิธีการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูงและได้ประสิทธิภาพดี ซึ่งจะใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ถึงแม้ว่าจะใช้ยากันชักเต็มที่แล้ว ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เดิมทีจะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เช่น ศีรษะแตก แขนขาหัก บางรายมีอาการชักขณะขับขี่ยานยนต์ทำให้เกิดอันตรายทั้งผู้ขับขี่และผู้อื่นได้  บางรายต้องได้รับยากันชักจำนวนมากจึงไม่สามารถทำงานได้เพราะง่วงซึมตลอดเวลา วิธีการผ่าตัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยในกลุ่มที่ไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมอาการโดยใช้ยากันชักเพียงอย่างเดียว

การผ่าตัดในโรคลมชักจะมีการประเมินหาจุดกำเนิดของอาการชักอย่างละเอียดก่อนทำการผ่าตัดทุกครั้ง มีการตรวจ EEG และ MRI แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวินิจฉัย เพื่อหาจุดกำเนิดของอาการชัก ทำให้สามารถบ่งบอกจุดกำเนิดของอาการชักได้อย่างแม่นยำและผ่าตัดสมองในเฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้ผลการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสามารถทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักสามารถควบคุมอาการชักได้สูงถึง 70% และผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมีน้อยมาก มีความปลอดภัยสูง

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน การวินิจฉัยโรคลมชักมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้ง EEG และ MRI ทำให้มีการวินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น มีการรักษาโรคลมชักด้วยวิธีการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูงและควบคุมอาการชักได้ดีมาก ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถควบคุมอาการชักได้มากกว่าการใช้ยากันชักเพียงอย่างเดียว ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเรียนหนังสือ ทำงาน และกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไปได้ รวมถึงลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานหรือขับขี่ยานยนต์ได้อีกด้วย

โดย นพ.ชาคริต สุทธิเสวันต์ 

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success