ลูกเป็นผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ควรป้องกันอย่างไร?

คุณพ่อคุณแม่ หลายๆ ท่านอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ ผื่นแดงคันตามตัวและข้อพับของลูกๆ เป็นๆ หายๆ จนต้องกุมขมับว่า จะมีหนทางป้องกันและดูแลรักษาอย่างไร? หมอจะมาช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักโรคนี้กันมากขึ้นนะครับ
โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis)
โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการแสดงทางผิวหนังโดยผู้ป่วยจะมีอาการคัน ผิวแห้ง มีการอักเสบของผิวหนังเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง และอาจพบร่วมกับโรคภูมิแพ้ชนิด เช่น การแพ้อาหาร, โรคภูมิแพ้จมูก, โรคหืด เป็นต้น
พบบ่อยแค่ไหน?
โรคนี้พบได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 15 โดยส่วนใหญ่เริ่มแสดงอาการในขวบปีแรก
สาเหตุของโรคนี้คืออะไร?
สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ มีด้วยกันหลายสาเหตุ ได้แก่
- พันธุกรรม พบว่าพ่อแม่ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ในลูกได้
- ความผิดปกติของผิวหนัง พบว่าผิวหนังของผู้ป่วยจะมีผิวที่แห้งและมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกมากกว่าผิวหนังคนปกติ
- สาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด, อาหาร (นมวัว, ไข่, แป้งสาลี, ถั่วลิสง), สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ (ไรฝุ่น, รังแคของสัตว์, เชื้อรา, เกสรดอกไม้ และแมลงสาบ), การติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นต้น
ลักษณะผื่นแบบไหนที่ชวนสงสัย?
ลักษณะที่สำคัญของผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้คือ การกระจายตัวที่เป็นแบบเฉพาะโดยจะพบผื่นที่บริเวณใบหน้าโดยเฉพาะแก้มต่อมาเมื่อโตขึ้นจะพบบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ข้อศอก, ข้อเข่า หรือข้อเท้า เป็นต้น ผิวหนังจะมีลักษณะแห้งและมีอาการคัน อาการจะเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ นอกจากนี้ประวัติโรคภูมิแพ้ทั้งของตัวผู้ป่วยหรือบุคคลในครอบครัวก็จะมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย
การดูแลรักษาโรคนี้ทำได้อย่างไร?
หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ทำได้โดย
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีความเป็นกรด-ด่างประมาณ 5.5-6.0
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และสารกระชับผิว
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำหรือทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำร้อน
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นขน
- หลีกเลี่ยงอุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นจัด
- หลังว่ายน้ำ ควรอาบน้ำทันที
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเช่น นม, ไข่, แป้งสาลี, ไรฝุ่น, แมลงสาบ เป็นต้น
- การใช้ยาทาเมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น
หมอหวังว่า หลักการการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในเบื้องต้น จะช่วยให้ลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่มีผื่นที่ลดลง ลดการกำเริบของผื่นได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนะครับ
โดย นพ.วรุตม์ ทองใบ
***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ