พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

ปวดประจำเดือน เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา


ปวดประจำเดือน เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ปวดประจำเดือน ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดานะคะ  ใครๆ เค้าก็ปวดกันทั้งนั้น  ปวดมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป บางคนปวดตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนใหม่ๆ ปวดกันมานาน ปวดกันจนชิน ปวดจนเป็นเรื่องปกติ ยาแก้ปวดประจำเดือนพกติดกระเป๋าเป็นนิสัย แต่บางคนเพิ่งมาปวด ปวดทีรุนแรง ต้องรับประทานยาทุกเดือน ปวดจนกังวล ปวดจนอยากไปพบแพทย์ แล้วแบบไหนกันล่ะ ที่ธรรมดา แบบไหนกันที่ไม่ธรรมดา

ประจำเดือน คือ เยื่อบุโพรงมดลูกที่เกิดจากการสร้างโดยการควบคุมของฮอร์โมนรังไข่และจากต่อมใต้สมองทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนกรณีมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดการปฏิสนธิหรือไม่เกิดการตั้งครรภ์ก็จะมีการหลุดลอกออกทุกเดือนเพื่อรอการทำงานรอบใหม่ของฮอร์โมนหรือเข้าใจง่ายๆ ว่าทุกเดือนของรอบการตกไข่  ปกติรอบของการตกไข่จะเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ห่างกันทุก 28 วัน บางคนก็มาเร็วหรือช้ากว่านั้นขึ้นกับการทำงานที่ปกติหรือมีการแปรปรวนของฮอร์โมนตามแต่ปัจจัยของแต่ละคน  ผู้หญิงโดยเฉลี่ยจะเริ่มมีประจำเดือนประมาณอายุ 12-13 ปี โดยช่วง 1-2 ปีแรกที่เริ่มมีประจำเดือน จะมาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการทำงานของรังไข่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ

ระหว่างการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก จะมีการสร้างสารตัวหนึ่ง ชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) สารตัวนี้จะทำให้มดลูดบีบตัว ทำให้เกิดอาการปวดบีบหรือปวดหน่วงบริเวณมดลูก มากน้อยแล้วแต่การรับความรู้สึกของแต่ละคน

การปวดประจำเดือน มี 2 แบบ คือ       
       1. ปวดแบบปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) หรือปวดแบบไม่มีโรค ปวดตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากสารพรอสตาแกลนดิน โดยไม่มีโรคหรือพยาธิสภาพใดๆ ในอุ้งเชิงกราน ไม่มีมะเร็ง ไม่มีเนื้องอก ไม่มีอักเสบ อาการปวดจะไม่มาก ปวดทนได้ ปวดบางเดือน ไม่ทุกเดือน อาจมีรับประทานยาบ้างบางเดือน ปวดแค่ 1-2 วันแรก ปวดกลางท้องน้อย ยังคงทำงานได้ ทำกิจวัตรปกติได้  
       2. ปวดแบบทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) หรือปวดแบบมีโรค เกิดจากการมีพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน ก็คือ มีโรค พบบ่อยคือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก พังผืดอุ้งเชิงกราน อุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง อาการปวดจะปวดมาก ต้องรับประทานยาทุกเดือน ปวดจนทำงานไม่ได้ อาการมีการพัฒนาปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกเดือน บางคนค่อยๆ ปวดแต่ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบปี ปวดหลายวัน บางคนปวดทุกวันที่มีประจำเดือน นาน 5-7 วัน บางคนปวดร้าวไปอวัยวะข้างเคียง เช่น ปวดร้าวต้นขาหน้าขา บางคนปวดลงก้นกบ ปวดทวารหนัก อาจมีอาการอย่างอื่นที่อาจจะพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดหลัง ท้องเดินนิดหน่อย ปวดศีรษะ บางคนอาจจะมีอาการหน้ามืด

อาการปวดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นแบบมีโรคหรือไม่มีโรค แต่ถ้าเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน เริ่มสงสัยว่าจากเดิมอาจไม่มีโรค ต่อมามีโรคหรือไม่ ก็ควรหาสาเหตุ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้มีผลต่อส่วนอื่นๆ ของชีวิต บางคนต้องหยุดงาน ลางานต้องพักผ่อน ขาดงานขาดเงิน เจ้านายบ่น ถูกเพ่งเล็งถูกไล่ออก หรือ ต้องรับประทานยาบ่อยๆ ก็มีผลต่อการทำงานของตับไตในการกำจัดยาออกจากร่างกาย สาเหตุส่วนใหญ่ตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสาเหตุที่ไม่ลุกลามร้ายแรง ไม่ใช่มะเร็ง แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็มีโอกาสที่เซลล์แปลกปลอมจะเจริญเติบโตมากขึ้น และกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

หมอสรุปอาการที่ต้องสังเกตให้เป็นข้อๆ ตามนี้นะคะ
สัญญาณเตือน ที่จำเป็นต้องพบหมอ

  1. ปวดท้องหลายวันก่อนมีประจำเดือน ความปวดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือนและอาจปวดมากต่อเนื่องไปหลังจากประจำเดือนหมด
  2. ปวดมากจนมีผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น ต้องหยุดเรียนหนังสือ หยุดงานหรือไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้
  3. ปวดมากขึ้นกว่าเดิม ทานยาแก้ปวดก็ไม่ดีขึ้น ต้องเพิ่มยามากขึ้นหรือต้องเปลี่ยนเป็นยาที่แรงขึ้น เพื่อระงับปวด
  4. ปวดเวลาถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ ขณะมีประจำเดือน
  5. ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
  6. ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อมีประจำเดือน
  7. มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ทั้งที่ตรงและไม่ตรงกับรอบเดือน
  8. มีภาวะมีบุตรยาก

การรักษาการปวดประจำเดือน

ถ้าเป็นแบบปฐมภูมิ หลังจากตรวจโดยละเอียดแล้ว ไม่พบโรคที่จะเป็นสาเหตุ การรักษาเน้นเรื่องทางจิตใจ ให้ความมั่นใจว่าไม่มีโรค ถ้าเป็นน้อยอาจจะใช้ยาระงับปวดในเดือนที่ปวด เช่น พาราเซตามอล(Paracetamol) หรือพอนสแตน (Ponstan) แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้คลายอาการปวดลงได้ เพราะระหว่างการออกกำลังกายจะเกิดการหลั่งสารสารเอ็นโดรฟิน (Endorphine) ทำให้รู้สึกสบาย ต้านฤทธิ์ของสารพลอสตาแกลนดิน ลดอาการปวดประจำเดือนได้

ส่วนการรักษาแบบทุติยภูมินั้น ต้องทำการตรวจภายใน และอัลตราซาวด์เพื่อหาสาเหตุ แต่ถ้าเป็นสาวโสด ไม่ต้องกลัวนะคะ ถ้าตรวจภายในไม่ได้ หมอก็ไม่บังคับตรวจอยู่แล้วค่ะ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ กรณีตรวจภายในไม่ได้ เราสามารถใช้วิธีอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องได้ แต่ในบางรายที่ผนังหน้าท้องหนามาก หรือบางรายที่จำเป็นต้องดูรายละเอียดของก้อนหรือซีสต์ ก็จะตรวจทางทวารหนัก ซึ่งไม่เจ็บแต่อย่างใดค่ะ เมื่อตรวจพบสาเหตุเราก็รักษาตามสาเหตุนั้นๆ ค่ะ อย่ากลัวที่จะพบหมอนะคะ หมอไม่ใช่ปีศาจร้ายที่จะมารุกรานของสงวนของใครค่ะ เรามีหน้าที่ตรวจหาสาเหตุ รักษาโรค ช่วยให้คุณผู้หญิงทุกคนมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ และมีความสุขกับทุกวันของชีวิต ทั้งวันมาน้อยมามากของเดือนค่ะ

เราลองมารู้จักสาเหตุที่พบบ่อยๆ กันคร่าวๆ นะคะ

1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย

  • อยู่ในเนื้อมดลูก (Endometriosis interna หรือ Adenomyosis)  หมายถึง  เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญแทรกเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก อาจรวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนเฉพาะที่ หรือกระจายกันอยู่ทั่วเนื้อมดลูกทั้งก้อน ทำให้เนื้อมดลูกโตขึ้นเฉพาะที่หรือโตขึ้นทั้งก้อน  เวลาตรวจจะพบว่ามดลูกโตขึ้นคล้ายกับโรคเนื้องอกมดลูก
  • อยู่นอกมดลูก (Endometriosis externa หรือ เรียก Endometriosis เฉย ๆ)  คือ เยื่อบุโพรงมดลูกไปขึ้นด้านนอกของมดลูก  มักขึ้นที่รังไข่  ท่อนำไข่ เส้นเอ็นของมดลูก หรือนานๆ ก็พบว่ามีบ้างที่ตับ  กระบังลมปอด  หรือเนื้อปอด  หรือขึ้นที่แผลที่เคยผ่าตัดช่องท้อง ถ้าเจริญเติบโตที่รังไข่ก็จะรวมตัวกันเกิดเป็นซีสต์รังไข่และด้านในเป็นน้ำเลือดเก่าๆ ข้นๆ จึงเรียกว่า ช็อคโกแลตซีสต์ (chocolate cyst)

2. เนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก ก้อนเนื้องอกแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก เวลามีประจำเดือน กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวจะเกิดการบีบที่ก้อนและทำให้เกิดอาการปวด เมื่อก้อนขนาดใหญ่ก็จะกดเบียดอวัยวะข้างเคียงได้

3. ปีกมดลูกอักเสบ เกิดจากการติดเชื้ออุ้งเชิงกรานอักเสบ มีอาการตกขาวบ่อย เป็นทั้งช่วงที่มีหรือไม่มีประจำเดือน ถ้ามีประจำเดือนอาการปวดท้องจะมากขึ้น

ใครอยากรู้เรื่องราวละเอียดของแต่ละโรค ไว้เรามาติดตามตอนต่อไปกันนะคะ เพราะถ้าเลคเชอร์กันในตอนนี้อย่างเดียวเราคงต้องนั่งฟังกันเป็นชั่วโมง นั่งอ่านกันอีก 10 หน้ากระดาษเลยค่ะ ตอนนี้พักสายตา กลับไปสังเกตอาการกัน แล้วถ้าใครพบว่าตัวเองผิดปกติ ก็ไปพบแพทย์กันก่อนเลย เจอโรคไหน เรากลับมาคุยกันถึงรายละเอียดแต่ละโรคกันอีกทีนะคะ จับเข่าคุยกันเป็นโรคๆ ไปเลยค่ะ

สุดท้าย ฝากไปเยี่ยมชมคลิปความรู้ง่ายๆอันนี้เพื่อเพิ่มความเข้าใจเรื่องการปวดประจำเดือนและช็อคโกแลตซีสต์กันได้ที่นี่ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=i3a_sitxnOI

โดย พญ.อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success