พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

การใช้ smartphone และ computer กับปัญหาทางตาในเด็ก


การใช้ smartphone และ computer กับปัญหาทางตาในเด็ก
สิ่งคุณพ่อคุณแม่กังวลในยุคสังคมก้มหน้า !?!?!

มีบทบรรณาธิการในวารสาร British Journal of Ophthalmology ปี ค.ศ.2001 ซึ่งได้กล่าวถึง คำว่ากล่าวตักเตือนที่ผู้ปกครองมักใช้เตือนกับลูกหลาน เช่น ห้ามทานของหวาน เดี๋ยวฟันผุ, อย่าปีนต้นไม้ เดี๋ยวตกลงมาศรีษะแตก, และอีกมากมาย ในเรื่องการตักเตือนที่เกี่ยวข้องกับทางตา ก็มีเช่นกันที่ได้ยินกันเป็นประจำ เช่น อย่าดูทีวีนาน เดี๋ยวสมองฝ่อ, อย่าดูในที่มืดเดี๋ยว สายตาจะเสีย  จริงแท้แค่ไหน  อย่างไร?

ปัญหาและความสำคัญของสายตาสั้น โดยทั่วไปสายตาสั้น มักไม่เป็นสาเหตุของสายตาขี้เกียจ (Lazy eye)  เมื่อเทียบกับ สายตายาว สายตาเอียง แต่ที่สำคัญคือ มีการเพิ่มขึ้นของความชุกของสายตาสั้นในประชากรโลกอย่างมากมาย 

จากการศึกษาระบาดวิทยาของสายตาสั้นในวารสาร Eye ค.ศ.2014 พบว่าในกลุ่มประชากรในซีกโลกตะวันออกโดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และ ไต้หวันพบว่าเกือบ 70% ของประชากรมีภาวะสายตาสั้น ส่วนในประเทศมองโกลเลีย และเนปาล มีความชุกสายตาสั้นเพียง 1.2 % และ 5.8% ตามลำดับ ซึ่งต่างจากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกด้วยกัน โดยพบว่าความเป็นสังคมเมือง (Urbanization) และลักษณะประเทศที่เป็นสังคมอุตสาหกรรม (Industrial setting) ในทั้งสองประเทศนี้น้อยกว่ากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกที่กล่าวมา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์ในการเพิ่มขึ้นของความชุกของสายตาสั้น ดังกล่าวได้

สอดคล้องกับรายงานของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้สำรวจประชากรไทยในปี พ.ศ. 2549-2550 พบว่าในเด็กไทยอายุน้อยกว่า 14 ปี เกือบ 20% สายตาสั้น โดยมีสายตาสั้นระดับรุนแรงคือ -9.00 ไดออปเตอร์ ถึง 33% และยังพบภาวะสายตาขี้เกียจได้ประมาณ 28.5% ในกลุ่มเด็กที่มีสายตาสั้นตั้งแต่ -6.00 ไดออปเตอร์ ถึง -11.00 ไดออปเตอร์ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาโดยการใส่แว่น ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปลึกแล้ว แสดงว่าการเข้าถึงบริการในเด็กกลุ่มนี้ยังคงน้อยอยู่

ปีพ.ศ. 2557 พบว่าสายตาสั้นในเด็ก อายุน้อยกว่า 15 ปี กว่า 30% มากกว่าการสำรวจในครั้งก่อน

ปัจจัยที่ต้องการทราบคือ อะไรที่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่เป็นเหตุหรือสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความชุกของสายตาสั้นหรือไม่? เพียงใดผลการศึกษาที่ออกมาพบว่าพยายามจะจัดแบ่งสาเหตุ เช่น

1. กรรมพันธุ์ กลุ่มเด็กที่มีผู้ปกครองมีภาวะสายตาสั้น 
- โดยเฉพาะทั้งบิดาและมารดา พบว่าเด็กมีโอกาสที่มีสายตาสั้นได้ถึง 40%
- ถ้ามีบิดาหรือมารดาเป็นสายตาสั้นเพียงคนเดียว เด็กมีโอกาสสายตาสั้น 20 % และ
- ในเด็กที่ไม่มีบิดาและมารดาสายตาสั้น ก็ยังคงมีโอกาสสายตาสั้นได้ประมาณ 10 % 

2. สิ่งแวดล้อม มีสองทฤษฎีด้วยกันที่สามารถอธิบายปัจจัยของสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อสายตาสั้นในเด็กคือ                                        

2.1 ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีในบ้าน คือในเด็กที่มีสายตาสั้นก็มักอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกับบิดา มารดาที่มีสายตาสั้น ชอบการอ่านหนังสือหรือทำงานที่มองใกล้ เด็กก็จะรับพฤติกรรมแวดล้อมมาแบบเดียวกัน                           

2.2 ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เด็กมีความไวต่อสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นสายตาสั้น ทำให้เด็กที่มีพฤติกรรมการมองที่ใกล้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานมักพบสายตาสั้น  ในเด็กที่มีระดับการศึกษาที่สูงก็มีความสัมพันธ์กับภาวะสายตาสั้น นอกจากนั้นความเป็นสังคมเมืองก็มักพบสายตาสั้นมากกว่าในสังคมชนบทและในทางกลับกับพบว่าเหตุที่เป็น ปัจจัยป้องกันสายตาสั้น คือการที่เด็กออกไปมีกิจกรรมนอกบ้าน (Outdoor activity)  จำนวนชั่วโมงของการมีกิจกรรมนอกบ้าน มีความสัมพันธ์กับการชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น ซึ่งกิจกรรมโดยเฉลี่ยมากกว่า 11 ชม.ต่อสัปดาห์ (อย่างน้อง 2 ชม.ต่อวัน)

ได้มีการศึกษาในสัตว์ทดลองได้ ทั้งลิง ไก่ มากกว่า 30 ปี เพื่อที่พยายามหาสาเหตุ พยาธิสภาพ เพื่อที่จะอธิบายกลไกในการเกิดสายตาสั้น พบว่ายีนที่อยู่ใน จอประสาทตา เซลล์เม็ดสีที่จอประสาทตา ชั้นเส้นเลือดของจอประสาทตา และที่ชั้นตาขาวต่างควบคุมกระบวนการเจริญเติบโตของกระบอกตา (Active Emetropization) ซึ่งเป็นกระบวนการในการตรวจหาจุดที่ไม่ชัดของภาพ (Defocus detection)    จากนั้นจะทำงานเพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่สอดคล้องกันเพื่อให้การมองเห็นภาพชัดเจน และกลไกที่สำคัญที่ทำให้มีภาวะสายตาสั้นในสัตว์ทดลองนั้นคือภาวะ  ที่แสงหักเหตกกระทบยาวกว่ากระบอกตาโดยเฉพาะบริเวณขอบจอประสาทตา (Peripheral Hyperopic defocus)จะเป็นตัวกระตุ้นให้ยีนต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วสร้างโปรตีนมาทำให้กระบอกตายืดตัวออกมา ให้พอเหมาะกับการตกของแสง ซึ่งท้ายสุดทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นขึ้นมานั่นเอง

รูปแสดงภาวะ Hyperopic defocus ที่เป็นกลไกสำคัญในการเกิดภาวะสายตาสั้นในเด็ก รูปภาพจาก www.cvs.rochester.edu

 
จากงานวิจัยในมนุษย์ CLEERE (Collaborative Longitudinal Evaluation of Ethnicity and Refractive error) พบว่าสาเหตุที่เป็นไปได้คือ ภาวะความบกพร่องในการเพ่ง (Accommodative Lag) ซึ่งหมายถึงการมองเพ่งมองภาพ โดยเฉพาะการมองใกล้ที่ไม่มีความแม่นยำ (Inaccurate focusing) ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นตกไปหลังกระบอกตา (Hyperopic defocus)  ทำให้มีการกระตุ้นกระบอกตาให้ยืดตัวออกไปเพื่อรับภาพ และสุดท้ายเมื่อกระบอกตายาวมากขึ้น  ก็ทำให้มีภาวะสายตาสั้นเกิดขึ้นนั่นเอง

ในแง่ของบทบาทของสิ่งแวดล้อมต่อสายตาสั้น จากลักษณะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีลักษณะเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น (Industrial setting) มีการเพิ่มขึ้นของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการแข่งขันทางด้านการศึกษาอย่างชัดเจนส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมการมองใกล้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าเป็นเรื่อง การอ่านหนังสือ การเล่นคอมพิวเตอร์ การใช้ tablet และ smartphone ในปี ค.ศ. 2014 มีรายงานโดย Xiao-Xiao Jiang และคณะ  ศึกษาผลของการมองใกล้ ต่อทั้งสุขภาพร่างกาย และสภาวะทางสังคม

ในเด็กจีน 3,461 ราย อายุ 12-14ปี พบว่าโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ มีการจ้องมองใกล้ มากกว่า 2 ชม.ต่อวัน โดยพบว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่เด็กจ้องมองได้อย่างต่อเนื่อง และรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจและสังคม ในปี พ.ศ. 2557 พบว่ามีการใช้งานโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยถึง 41 ล้านคน ค่าเฉลี่ยในการจ้องมองจอสูงอย่างมากต่อเนื่องถึง 7.2 ชม. ซึ่งเป็นที่ทราบกันอย่างแน่ชัดว่า การที่จ้องมองใกล้อย่างต่อเนื่อง นั้นเป็นเหตุสำคัญของภาวะตาแห้งมีอาการแสบตา ตาแดง มองไม่ชัด ปวดตา และปวดศรีษะในที่สุด และอีกประเด็นของการจ้องมองใกล้อย่างต่อเนื่อง คือ สามารถกระตุ้นสายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) ได้ อันเนื่องมากจากการเกร็งของกล้ามเนื้อในลูกตาที่ใช้ในการจ้อง ลักษณะของสายตาสั้นเทียม มักพบในเพศหญิง จะมีการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นอย่างรวดเร็วเช่น เพิ่มขึ้นเดือนละ -1.00 ไดออปเตอร์ หรือในระหว่างการวัด มีการเปลี่ยนแปลงของสายตาอย่างมาก ก็ทำให้แพทย์ผู้ตรวจคิดถึงภาวะนี้

ส่วนในประเด็นการมองใกล้ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ หรือการจ้องสมาร์ทโฟน นั้นทำให้เกิดสายตาสั้นได้จริงหรือไม่ จากหลายรายงานทางการแพทย์พบว่าการมองใกล้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดหรือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสายตาสั้น แต่การที่จะพิสูจน์ว่าเป็นสาเหตุ เป็นประเด็นที่ทำได้ยาก  เนื่องมากจากรูปแบบและข้อบังคับ ทางจริยธรรมในการวิจัย ทำให้คณะทางผู้วิจัยส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดปัจจัยรบกวนตัวแปร ที่น่าเป็นเหตุสัมพันธ์กับสายตาสั้นไปได้ และไม่สามารถทำการทดลองเปรียบเทียบกันโดยตรงได้ (Head to head comparison) แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียน สังเกตุได้ว่าในเด็กบางรายที่มีสายตาสั้นนั้น บางครั้งเด็กไม่ใช่เป็นเด็กที่ติดกับกิจกรรมมองใกล้ เมื่อตรวจติดตามในแต่ละปีก็ยังคงมีการเพิ่มขึ้นของระดับสายตาสั้นอย่างต่อเนื่อง และในทางตรงกันข้าม ก็พบเด็กที่ติดกิจกรรมมองใกล้ เช่น เด็กที่ติดการเล่นเกมส์ต่อเนื่องระยะเวลานานกลับไม่พบการเพิ่มขึ้นของระดับสายตาสั้นอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งในรายที่พบสายตาสั้นเพิ่มขึ้นจากในสัตว์ทดลองและงานวิจัยในคน สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักภายใน คือ ความบกพร่องในการเพ่ง (Accommodative lag) นั่นเอง

บทความเรื่อง impact of computer use on children’s vision ในวารสาร HIPPOKRATIA ปี ค.ศ. 2009 เนื่องจากเด็กมีความสนุกเป็นพื้นฐานในการใช้คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน เมื่อเกิดการจ้องที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในการเพ่งและ การกระพริบตาที่ลดลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะตาแห้ง ทำให้เกิดการพร่ามัว แสบตา ปวดตา ปวดศรีษะตามมาในที่สุด แต่เนื่องจากเด็กมีการปรับตัวที่ดีกว่าผู้ใหญ่ อาจไม่สนใจในปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น หน้าจอที่ไม่สะอาดมีคราบมัน ทำให้แสงที่ออกมากนั้นกระจาย (Glare) มากกว่าปกติ ความสว่างของหน้าจอไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่า สว่างมากเกินหรือมืดเกิน หรือแม้กระทั่งภาพที่มัวกว่าปกติจากหน้าจอ อาจทำให้เด็กไม่สามารถทราบ และไม่ระวังตัวเองปัญหาที่จะเกิดตามมาได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้มีการตรวจตาประจำปี ให้มีการพักสายตาอย่างเหมาะสม เช่น ทุก 1 ชม.ให้พักสายตาทุก 10 นาที มีการจัดแสงและที่นั่ง ท่าทางการใช้งานให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความสบายและความปลอดภัยในการใช้งาน

ในเมื่อพวกเราเดินทางมาถึงยุคสมัยที่การเลี่ยงการใช้ computer และ smartphone เป็นไปได้ยาก หากเพียงแต่ทราบการปรับตัวที่เหมาะสม ก็ทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และเด็ก ใช้สายตาและดวงตาอย่างถูกต้อง

ตารางแนะนำ. จำนวนชั่วโมงการจ้องหน้าจอกับอายุของเด็ก 

เครดิต ตารางจาก https://www.vsp.com/eye-strain.html

โดย นพ.วรากร เทียมทัด

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success