พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

ข้อสะโพกเสื่อมจนต้องผ่าตัด ควรเลือกรับการผ่าตัดวิธีไหนดี?

 

การรักษาข้อสะโพกเสื่อมหรือกระดูกสะโพกตาย ในระยะเริ่มแรก อาจใช้วิธีการรักษาด้วยยา เช่น ให้ยาลดอาการอักเสบและอาการปวด ร่วมกับทำกายภาพเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อข้อสะโพก แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดข้อสะโพกด้วยวิธีดั้งเดิมจะทำการผ่าตัดโดยวิธีหลักๆ 2 วิธี คือ

1. การผ่าตัดโดยเปิดแผลเข้าทางด้านหลัง (Posterior approach) ซึ่งเป็น บริเวณที่มีกล้ามเนื้อเยอะ ในการผ่าตัดจำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อออก เพื่อใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไปแล้วจึงเย็บกล้ามเนื้อกลับ เข้าไปอีกครั้ง การฟื้นตัวค่อนข้างช้าเพราะมีการตัดกล้ามเนื้อ อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน 8-12 สัปดาห์ ที่สำคัญคือ มีโอกาสที่ผ่าตัดไปแล้วจะเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดตั้งแต่ 0.5-2%

2. การผ่าตัดเข้าทางด้านข้าง (Lateral approach) ซึ่งก็เป็นการผ่าตัดที่ต้องทำการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพก ออกเช่นเดียวกัน และการผ่าตัดโดยเข้าทางด้านข้างนี้  เนื่องจากต้องมีการตัดกล้ามเนื้อสำคัญในการเดิน การตัดกล้ามเนื้อระหว่างการผ่าตัด จะส่งผลให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดของคนไข้ช้าลง บางรายหลังผ่าตัดยังเดินไม่สะดวก ต้อง อาศัยไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยการเดิน รวมถึงอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดมี มากกว่า

ล่าสุดมี เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า ‘Direct Anterior Approach Total Hip Replacement’ ซึ่งเป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป

‘การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ’ เป็นการผ่าตัดทางเลือกใหม่ที่แตกต่างจากวิธีการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม เป็นการผ่าตัดโดยการเข้าทางด้านหน้า ซึ่งเป็นการเข้าระหว่างกล้ามเนื้อ Tensor fascia lata และ Sartorius ซึ่งจะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ ขณะผ่าตัดเลย และจะใช้เครื่องมือพิเศษแหวกกล้ามเนื้อเข้าไปและยกกระดูกขึ้นเพื่อใส่ข้อสะโพก เทียมเข้าไป

การผ่าตัดแบบนี้ กล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะบอบช้ำน้อยกว่า ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดี และเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก ในบางรายสามารถเดินได้ทันทีหลังผ่าตัด แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถควบคุมความสั้นยาวของขาหลังผ่าตัดได้ง่ายกว่า มีโอกาสข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดน้อย เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อสะโพกมีความมั่นคง และที่สำคัญอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยมาก

โดย นพ.พนธกร พานิชกุล

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success