รู้จักโรคภูมิแพ้จมูกในเด็กให้มากขึ้น!!

โรคภูมิแพ้จมูกคืออะไร?
โรคภูมิแพ้ทางจมูกเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มักแสดงอาการหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป แล้วเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ทำให้มีอาการ จาม น้ำมูกไหล คันจมูกและคัดจมูก ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้โดยไม่ได้รับการรักษา แต่ผู้ที่เป็นรุนแรงมาก ควรได้รับการรักษา ภาวะของโรคที่รุนแรงมักส่งผลรบกวนการนอน การเรียน หรือการทำงาน ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง
โรคภูมิแพ้จมูกพบได้บ่อยแค่ไหน?
อุบัติการของโรคภูมิแพ้จมูกพบได้ประมาณร้อยละ 10-25 ของประชาการทั่วไป ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคนี้ในเด็กจากการสำรวจในปี 2518 พบร้อยละ 23 หลังจากนั้นพบว่าแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยในปี 2538 พบถึงร้อยละ 38
สาเหตุของโรคภูมิแพ้จมูกมีอะไรบ้าง?
ภูมิแพ้จมูกเป็นโรคที่มีสาเหตุร่วมหลายสาเหตุประกอบกันได้แก่
-
ปัจจัยด้านพันธุกรรม
-
สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ อาทิเช่น ไรฝุ่นบ้าน เกสรพืช ชิ้นส่วนหรือสิ่งขับถ่ายของแมลงที่อาศัยอยู่ในบ้าน (แมลงสาบ, ยุง) ชิ้นส่วนและขนของสุนัข แมว เป็นต้น
-
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแสดงมากขึ้น ได้แก่ มลภาวะ ควันบุหรี่ กลิ่นฉุน ควันต่างๆ ฝุ่นละออง อากาศเย็น เป็นต้น
อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกมีอะไรบ้าง?
เมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ผู้ป่วยมักมีอาการจามติดๆ กันหลายครั้ง คันจมูก มีน้ำมูกใสและคัดจมูก อาการดังกล่าวมักเป็นอยู่นาน หลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง หลังจากนั้นอาการอาจจะหายได้เอง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันบริเวณตา คอ หู หรือเพดานปากร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการปวดศีรษะ เสียงเปลี่ยน จมูกไม่ได้กลิ่น น้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อหรือมีเสียงดังในหู อาการคล้ายกับมีก้อนหรือมีอะไรติดในคอ ร่วมด้วย
อาการแสดงของผู้ป่วยขึ้นกับระยะเวลาที่เป็น และความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยหลายรายชอบย่นจมูก และมีรอยย่นที่สันจมูก ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีอาการคันจมูกมาก เด็กบางรายมีอาการหายใจดัง หรือชอบทำจมูกบานๆ เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูกมาก เด็กส่วนใหญ่มีรอยคล้ำใต้ตา ซึ่งเกิดจากการมีการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณใต้ขอบตาล่าง บางรายอาจมีอาการกระแอมบ่อยๆ จากการที่มีเสมหะลงคอ
โรคภูมิแพ้จมูกสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้จมูกแพทย์ผู้ทำการรักษาจะอาศัยข้อมูลจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษเพิ่มเติม
-
ประวัติ อาการของผู้ป่วยหลังสัมผัสสารภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้อื่นๆ ที่พบร่วม เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้ทางตา โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง และประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว
-
การตรวจร่างกาย มักตรวจไม่พบลักษณะที่ผิดปกตินอกจากรอยคล้ำใต้ตา รอยย่นบริเวณสันจมูกผู้ป่วยบางรายมีสีของเยื่อบุจมูกซีดหรือม่วงคล้ำ ผู้ป่วยมักมีน้ำมูกใสๆ ปริมาณมาก ในรายที่มีโรคแทรกซ้อน อาจมีลักษณะเฉพาะที่เป็นลักษณะของโรคนั้นๆ เช่นริดสีดวงจมูก
-
การตรวจพิเศษ ช่วยในการวินิจฉัยในรายที่มีประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน การตรวจพิเศษได้แก่ การตรวจดูเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด การตรวจเม็ดเลือดขาวในน้ำมูก การทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนังเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้อง การส่องกล้องเข้าไปในโพรงจมูก เป็นต้น
โรคภูมิแพ้จมูกรักษาอย่างไร?
หลักการรักษาโรคภูมิแพ้จมูกประกอบไปด้วย
1. การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและครอบครัวให้มีความเข้าใจและดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม การหลีกเลี่ยงหรือการกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นหัวใจของการรักษา การกำจัดสิ่งที่แพ้ขึ้นกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ไรฝุ่นซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้จมูกมากที่สุด สามารถลดปริมาณไรฝุ่นในสิ่งแวดล้อมได้ดังนี้
- งดการใช้พรม งดเล่นตุ๊กตามีขน หรือใช้วัสดุที่เป็นผ้า
- หุ้มที่นอน หมอน หมอนข้าง ด้วยผ้าทอเนื้อแน่น หรือวัสดุเนื้อแน่น เช่นผ้ากันไรฝุ่น ผ้ายาง พลาสติก
- ซักทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการนอนที่เป็นผ้าได้แก่ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง มุ้ง ด้วยน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที หรือ 70 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 10 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับผ้าม่านควรทำความสะอาดด้วยวิธีดังกล่าวด้วย
- พยายามจัดบ้านให้โล่ง ไม่ควรเก็บหนังสือเก่าๆ ซึ่งจะสะสมไรฝุ่นไว้
- ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยวัสดุที่เป็นหนัง หรือพลาสติกแทนผ้า เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด
2. สำหรับผู้ที่แพ้แมลงสาบ ควรป้องกันโดย
- ควรเก็บอาหารไว้ในภาชนะที่มิดชิด และควรทำความสะอาดห้องครัว และห้องอาหารให้สะอาดภายหลังทำกับข้าว และภายหลังรับประทานอาหาร
- ควรนำขยะใส่ไว้ในถุงที่ปิดปากถุงแน่น และนำไปใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด
- ควรปิดท่อระบายน้ำในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้ามาตามรูท่อระบายน้ำ
- อาจจำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลงสาบ
3. หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองหรือปัจจัยชักนำที่ทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้นเช่น การอดนอน การสูบบุหรี่ การสัมผัสฝุ่น ควัน กลิ่นฉุน อากาศเย็นหรือร้อนจัดเกินไป
4. พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส
5. การใช้ยาบรรเทาอาการซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด เช่น
- ยาต้านฮิสตามีน เป็นยาที่ลดอาการน้ำมูกไหล จาม คันจมูก ซึ่งจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อได้รับยาเป็นประจำ ก่อนที่จะสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ แพทย์มักสั่งยานี้เป็นยาเริ่มแรก สำหรับผู้ที่ป่วยไม่รุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยควรได้รับยาต่อเนื่อง จึงควรรับประทานยาที่ไม่ง่วง และไม่มีผลต่อการเรียน หรือการทำงาน
- ยาหดหลอดเลือด มีทั้งในรูปรับประทาน และใช้เฉพาะที่ ทำให้หลอดเลือดหดตัว และเนื้อเยื่อในจมูกยุบบวม ทำให้อาการคัดจมูกน้อยลง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยมีหัวใจเต้นเร็วได้ จึงควรระมัดระวังในการกินยาเกินขนาด หรือต่อเนื่อง
- ยาลดอาการอักเสบชนิดที่เป็นสเตียรอยด์ สามารถให้ได้ในรูปพ่นเข้าจมูก หรือรับประทาน แต่ชนิดที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ยาพ่นเข้าจมูก ซึ่งควรพ่นตรงๆ เข้าในจมูก หรือเฉียงไปทางหู ควรพ่นทั้ง 2 ข้าง วันละ 1-2 ครั้งตามที่ระบุไว้ที่ฉลากยา หรือตามความรุนแรงของโรค
6. การทำอิมมูโนบำบัด เป็น การฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่เป็นสาเหตุของภูมิแพ้ทางจมูก เข้าไปในร่างกายทีละน้อย โดยฉีดเข้าไปในชั้นใต้ผิวหนัง แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนจนได้ขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยรับได้ ซึ่งจะพิจารณาทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้รุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ โดยที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ แม้จะพยายามกำจัดสารก่อภูมิแพ้แล้ว หรือผู้ป่วยไม่สามารถทน อาการข้างเคียงของยาต่างๆ ที่ได้รับ การรักษาแบบนี้ต้องรักษาต่อเนื่องนานเป็นเวลา 3-5 ปีขึ้นไป และมักเห็นผลของการรักษาภายหลังเริ่มการรักษาประมาณ 1 ปีขึ้นไป
ภาวะแทรกซ้อนหรือโรคที่พบร่วมกับโรคภูมิแพ้จมูกมีอะไรบ้าง?
-
ไอเรื้อรัง
-
หูชั้นกลางอักเสบและมีน้ำคั่งในหูชั้นกลาง
-
เจ็บคอ
-
ไซนัสอักเสบ
-
กรนดัง และเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
-
เด็กอยู่ไม่นิ่ง ซนมาก โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น
- โรคหืด ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบร่วมกับโรคภูมิแพ้ทางจมูกได้บ่อยกว่าโรคอื่นๆ ผู้ป่วยหลายรายที่เป็นหืด แต่ไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาภูมิแพ้ทางจมูกร่วมด้วย
โดย นพ.วรุตม์ ทองใบ
***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ