พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

ตาเข ต้องรักษาหรือไม่?

 

โรคตาเข

ตาเข หรือตาเหล่ คือโรคที่ลูกตาทั้งสองข้างทำงานไม่ประสานกัน ไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้การมองเห็นภาพเมื่อใช้ตาสองข้างผิดปกติไปจากเดิม อาการของตาเขนั้นมีได้หลากหลาย ขึ้นกับอายุที่ปรากฏ เช่น ถ้าเป็นตาเขในผู้ใหญ่ หรือในเด็กโต มักมีอาการมองเห็นภาพซ้อน ถ้าเป็นในเด็กเล็กมักไม่มีภาพซ้อน เนื่องมาจากเด็กสามารถปรับตัวโดยการยับยั้งภาพจากตาข้างที่เขได้ ซึ่งก็ทำให้ไม่มีภาพซ้อน แต่สิ่งที่จะเกิดตามมาตาข้างที่เขก็จะไม่พัฒนาเหมือนตาข้างที่ปกติ ทำให้เกิดสายตาขี้เกียจขึ้นในตาข้างที่เข 

สาเหตุของโรคตาเข

ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า ตาเขในเด็กนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร แต่การศึกษาหลายอย่างบ่งชี้ว่า เป็นความบกพร่องในระบบการสมดุลของการใช้ตาสองข้างพร้อมกัน นอกจากนั้น อาจมีสาเหตุมาจากภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก เช่น สายตายาวมากเกินกว่าปกติ หรืออาจเกิดมาจากตัวกล้ามเนื้อลูกตาอ่อนแรงกว่าปกติ ส่วนสาเหตุของตาเขในผู้ใหญ่นั้น ส่วนมากมาจากโรคประจำตัวอาทิ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง หรือเป็นจากอุบัติเหตุที่มีผลต่อเส้นประสาทสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนิ้อลูกตา มักพบว่าตาเขที่ปรากฏในวัยเด็กสัมพันธ์กับประวัติกรรมพันธุ์

ประเภทของตาเข

ส่วนมากจักษุแพทย์ จะแบ่งชนิดของตาเขหลักๆ จากทิศทางที่เข  เช่น ตาเขเข้าใน ตาเขออกนอก ตาเขขึ้นบน หรือตาเขลงล่าง เป็นต้น นอกจากนั้น อาจลงรายละเอียด แยกไปอีกว่า ตาเขนั้นสัมพันธ์กับความผิดปกติของสายตา หรือความผิดปกติของการเพ่งหรือไม่ หรือตาเขนั้นเป็นความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นไหนซึ่งก็ทำให้ตาเขนั้นมีทิศทางการเขที่ต่างกันออกไป

ตาเขบางชนิดไม่ได้เป็นตลอดเวลา แต่อาจจะเห็นเป็นบางครั้ง เช่นเวลาที่เผลอ เหม่อ หรือร่างกายอ่อนเพลีย มักเห็นในกลุ่มตาเขออกนอกเป็นบางครั้ง

นอกจากตาเขที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังพบภาวะตาเขเข้าในชนิดเทียม ซึ่งพบได้มากในเด็กชาวเอเชีย เนื่องมากจากสันจมูกที่ยังแบนในเด็ก ร่วมกับมีหนังตาด้านในใกล้หัวตา มาบดบังตาขาวด้านใน ทำให้ดูเหมือนว่าตาดำเข้ามาชิดสันจมูก ลักษณะดังกล่าวส่วนมากจะหายไปได้เองเมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น แต่อย่างไรก็ดีควรได้รับการตรวจยืนยันว่าไม่มีตาเขจริงร่วมด้วย

การรักษาตาเข

วัตถุประสงค์ในการรักษาตาเขนั้นต่างกันตามกลุ่มอายุ

ตาเขในเด็ก วัตถุประสงค์ในการรักษา เพื่อฟื้นคืนสภาวะสมดุลในการมองเห็นทั้งสองตาพร้อมกัน หรือเพื่อเป็นการฟื้นคืนการมองเห็นภาพสามมิตินั่นเอง นอกจากนั้นเพื่อเป็นการรักษาสายตาขี้เกียจอันเนื่องมาจากตาเขด้วย

ตาเขในผู้ใหญ่ วัตถุประสงค์ในการรักษา เพื่อลดปัญหาภาพซ้อนที่เกิดขึ้น ให้กลับมาเห็นเป็นภาพเดียวกัน และเป็นการขยายลานสายตาให้กว้างขึ้นในตาเขบางชนิด

ในกรณีเป็นตาเขตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่ไม่ได้รักษา แล้วมารักษาในวัยผู้ใหญ่ สิ่งที่ไม่สามารถกู้ฟื้นคืนมาได้คือสภาพการมองเห็นสามมิติ และสายตาขี้เกียจ

ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่จะได้นอกจากที่กล่าวแล้วนั้น คือทำให้ตาดูตรงขึ้น เสริมสร้างความมั่นใจให้แก่คนไข้ได้

การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับสาเหตุ ได้แก่ 

  • การใส่แว่นสายตายาว สำหรับตาเขที่มีเหตุจากสายตายาวมากกว่าเกณฑ์ปกติ
  • การปิดตา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักสำหรับการปิดตานั้นเพื่อรักษาตาขี้เกียจที่พบร่วมกับตาเข
  • นอกจากนั้นเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตา เพื่อปรับองศาของตาที่เขให้ตรง

สรุป โรคตาเขนั้นทำให้มีผลเสียสำคัญสองประการ

ประการแรก คือ ทำให้การใช้งานสองตาร่วมกันผิดปกติไปจากเดิม เช่นทำให้เห็นภาพซ้อน ทำให้เกิดสายตาขี้เกียจ ทำให้มีการสูญเสียการมองเห็นภาพสามมิติ

ประการที่สอง คือ ทำให้สูญเสียบุคลิกภาพ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองรวมถึงผู้ปกครองด้วย

โดย นพ.วรากร เทียมทัด   

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success