พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

การให้การมองเห็น การให้ที่ยิ่งใหญ่

 

ระยะเวลา 5 ปี สำหรับการรอคอยอะไรบางอย่าง คุณว่านานไหมคะ?

เชื่อไหมคะว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้เวลารอคอย 5 ปีนี้ ภายใต้ความมืดมัวของสายตา...

เขาเหล่านั้น คือ ผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ที่มีปัญหาตามัว มองเห็นไม่ชัดจากการที่มีแผลเป็นหรือมีการบวมขุ่นที่กระจกตา บางรายมีกระจกตาที่บางหรือโค้งผิดรูป ซึ่งกระจกตาที่จะมาเปลี่ยนถ่ายนั้นไม่สามารถสร้างของเทียมขึ้นมาได้ แต่มาจากการรับบริจาคจากผู้ที่ยื่นความจำนงไว้เท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้ามีผู้บริจาคมากขึ้นเท่าไรการรอคอยนี้ก็จะยิ่งสั้นลง โอกาสที่จะได้มองเห็นดีขึ้นก็มีมากขึ้นเช่นกัน            

ใครสามารถบริจาคดวงตาได้บ้าง?

ความจริงแล้วคนส่วนมากสามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้ เนื่องจากข้อห้ามมีแค่เพียงในกรณีที่มีการติดเชื้อหรือโรคติดต่อร้ายแรง

ส่วนในรายที่เคยผ่าตัดต้อกระจก มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา (สายตาสั้น, สายตายาวหรือสายตาเอียง) ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา หรือมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูงนั้นสามารถบริจาคได้

ดวงตาที่บริจาคจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง?

กระจกตา หรือส่วนที่อยู่หน้าสุดของดวงตา ที่เรามักเรียกกันโดยทั่วไปว่า ตาดำ คือส่วนหลักที่จะถูกนำไปใช้ โดยจักษุแพทย์จะทำการผ่าตัดนำกระจกตาส่วนที่มีปัญหาของผู้ป่วยออก แล้วใช้ชิ้นส่วนของกระจกตาที่ได้รับบริจาคมาวางแทนที่เย็บไว้ด้วยไหมโดยรอบ

นอกจากนี้ผนังตาขาวส่วนที่เหลือจากการตัดกระจกตาออกแล้วยังนำไปใช้ประโยชน์ในการผ่าตัดทางตาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในผู้ป่วยโรคต้อหิน ผ่าตัดเย็บซ่อมกระจกตาที่ทะลุ ใช้ในการผ่าตัดเพื่อความพร้อมในการใส่ตาปลอม

ถ้าต้องการบริจาคดวงตาต้องทำอย่างไรบ้าง?

สามารถติดต่อแสดงความจำนงขอบริจาคดวงตาได้ 3 ช่องทาง คือ

1. ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย 

อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทรศัพท์ 0-2252-8131-9, 0-2258-8181-9, 0-2256-4039 และ 0-2256-4040 ต่อศูนย์ดวงตา ตลอด 24 ชั่งโมง

E-mail: eyebank@redcross.or.th

2. บริจาคออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย   http://eyebank.redcross.or.th/eyebankthai/donationwebsite/register-donor สามารถเข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อแสดงความจำนงบริจาคดวงตาได้ตามลิงค์นี้เลยค่ะ สะดวกและใช้เวลาไม่นาน

3. ในส่วนภูมิภาคสามารถติดต่อได้ที่เครือข่ายศูนย์ดวงตา

ศูนย์ดวงตาภาค 1 รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี

ศูนย์ดวงตาภาค 2 รพ.สระบุรี จ.สระบุรี

ศูนย์ดวงตาภาค 3 รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี

ศูนย์ดวงตาภาค 4 รพ.ศูนย์ราชบุรี จ.ราชบุรี

ศูนย์ดวงตาภาค 5 รพ.มหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา

ศูนย์ดวงตาภาค 6 รพ.อุดรธานี จ.อุดรธานี

ศูนย์ดวงตาภาค 9 รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก

ศูนย์ดวงตาภาค 10 รพ. มหาราชนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ศูนย์ดวงตาภาค 11 รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

ศูนย์ดวงตาภาค 12 รพ.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา

ผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคดวงตาไว้แล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

  1. ดูแลสุขภาพร่างกายและดวงตาตามปกติ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาควรปรึกษาจักษุแพทย์
  2. บอกญาติใกล้ชิดให้ทราบ เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง เนื่องจากระยะเวลาในการเก็บอวัยวะหลังจากที่ผู้บริจาคเสียชีวิตแล้วมีความสำคัญ โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการเก็บอวัยวะใดรวมทั้งดวงตาจะไม่ให้เกิน 6 ชั่วโมง ญาติจึงควรรีบแจ้งไปยังศูนย์ดวงตา

ความจริงเกี่ยวกับการบริจาคดวงตา

  • ปัจจุบันสัดส่วนของผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา กับผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคดวงตา ยังมีความแตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคอยนานถึง 5 ปีโดยเฉลี่ย
  • มีความเชื่อบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการบริจาคดวงตา เช่น ความเชื่อที่ว่าการบริจาคอวัยวะแล้วจะทำให้เมื่อเกิดมาชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ
  • ภายหลังจากที่แพทย์ทำการเก็บดวงตาไปแล้วจะมีการเย็บตกแต่งแผลภายนอกให้เรียบร้อย ก่อนที่จะให้ญาตินำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยที่จะมองไม่เห็นว่าตาโบ๋หรือไม่มีดวงตา จะเหมือนคนที่นอนหลับเท่านั้น
  • กระจกตา ถือเป็นอวัยวะแรกของร่างกายที่สามารถปลูกถ่ายได้สำเร็จ เนื่องจากเป็นบริเวณที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงร่างกายจึงมีโอกาสที่จะมีการต่อต้านเนื้อเยื่อน้อยกว่าการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น การบริจาคดวงตาจึงสามารถให้ได้กับผู้รับทุกคนโดยไม่ต้องตรวจหมู่เลือดหรือความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ          

จุดมุ่งหมายของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา คือทำให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่ดีขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้นลดการพึ่งพาผู้อื่น แต่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น 5 ปี คือ ระยะเวลารอยคอยกระจกตาโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยในประเทศไทย เพราะปัจจุบันยังมีผู้แสดงความจำนงบริจาคกระจกตาเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการ

หมออยากจะชวนทุกคนมารู้จักการให้ที่ยิ่งใหญ่อีกรูปแบบหนึ่งค่ะ นั่นก็คือ การให้การมองเห็นแก่ผู้ที่มีปญหาที่กระจกตา ถึงแม้ชีวิตจริงจะไม่เหมือนในหนังหรือละครที่พอนางเอกเปิดผ้าพันแผลออกหลังผ่าตัดก็สามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจนเป็นปกติ แต่เชื่อเถอะค่ะว่าคุณได้มอบสิ่งที่มีค่าให้แก่อีกชีวิตหนึ่ง

โดย พญ.วิรัญญา วชิรศักดิ์ชัย

Credit ภาพประกอบ: นพ.จุลเวช กาญจนเจตนี

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success