พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

สีผิวที่เปลี่ยนไป บอกโรคให้คุณได้หรือไม่?

 

เดือนที่ผ่านมา หมอได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่หยิบเอา idea ง่าย ๆ แต่คงไม่มีใครคิดว่าจะสามารถเขียนส่งลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการต่างประเทศได้ค่ะ เป็นเรื่อง Dermatology and comic book characters ค่ะ ได้ลงตีพิมพ์ใน JAMA Dermatology เดือนมิถุนายน 2016 ซึ่งเป็นวารสารดังที่แพทย์ผิวหนังต้องอ่านค่ะ ผู้เขียนเป็นคุณหมอที่สิงคโปร์ ใกล้ๆ ไทยเรานี่เอง หมอคิดว่าการหยิบเอาไอเดียรอบตัว มาใช้กับงานวิชาการเป็นเรื่องที่เก๋และเข้าใจง่ายไม่น้อยเลยนะคะ

เนื้อหาส่วนแรกเกี่ยวกับสีผิวค่ะ สีผิวที่เปลี่ยนไปจะบ่งบอกถึงโรคผิวหนังอะไรได้บ้างนั้น ขอบอกเลยว่า ใครที่เป็นแฟนหนัง Marvel ต้องถูกใจแน่ๆ ค่ะ เพราะตัวการ์ตูนจากฝั่งนั้นติดโผเยอะมากจริงๆ ค่ะ

ตัวการ์ตูนตัวแรก คือ ‘Hulk’ จากหนังเรื่อง ‘Hulk’ และยังเห็นในหนังอีกหลายๆ เรื่องนะคะ ผู้เขียนได้เปรียบเทียบว่าคล้ายกับ Green skin หรือ ผิวสีเขียว ที่พบในโรคที่มีการอุดตันของทางเดินน้ำดี (Obstructive Jaundice) และอีกตัวการ์ตูน คือ ‘Thing’ จากหนังเรื่อง ‘The Fantastic four’ ซึ่งคล้ายกับ Orange skin หรือผิวสีส้ม ที่พบในภาวะแคโรทีนในเลือดสูง (Hypercarotenemia) ค่ะ

หมอจึงขอนำมาเล่าต่อ ถึงอาการผิวสีเหลืองส้ม ผิวเหลืองเขียว หรือบางคนถ้าไม่ได้สังเกตตนเอง อาจจะมีคนทักว่า เอ๊ะทำไมเราดูตัวเหลืองตาเหลืองขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ ตัวอย่างเช่น

1) ภาวะแคโรทีนในเลือดสูง (Carotenemia) และภาวะไลโคพีนในเลือดสูง (Lycopenemia) สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารแคโรทีน เช่น แครอท หรือสารไลโคพีน เช่น มะเขือเทศ มะละกอ ในประมาณที่สูงติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เกิน 4-7 สัปดาห์ ทำให้สารทั้งสองนี้ไปจับกับชั้นหนังกำพร้า โดยเฉพาะในบริเวณที่มีไขมันเคลือบผิวมากๆ ทำให้มองเห็นผิวเป็นสีเหลืองส้ม จึงมักจะเห็นเด่นชัดที่บริเวณร่องข้างจมูก, หน้าผาก ซึ่งมีต่อมไขมันมาก และฝ่ามือฝ่าเท้า ที่มีชั้นหนังกำพร้าที่หนา ภาวะนี้ไม่รุนแรง ถ้าหากเราหยุดรับประทาน หรือลดปริมาณการทานลง สีผิวมักจะกลับคืนสู่ภาวะปกติภายใน 4 สัปดาห์ 

2) ภาวะเหลืองจากโรคตับและการอุดกั้นทางเดินน้ำดี หรือกลุ่มโรคดีซ่าน (Jaundice)

ภาวะนี้จะเด่นที่ผิวหนังทั่วๆ ตัว และเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย มองเห็นเป็นสีเหลืองเขียวได้ โดยเด่นที่บริเวณเยื่อบุตาขาว(ตาเหลือง) ซึ่งสามารถใช้แยกจากภาวะแคโรทีนและไลโคพีนในเลือดสูงได้ซึ่งจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสีที่บริเวณเยื่อบุตาขาว(ไม่มีตาเหลือง)

ภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น การมีนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี การมีก้อนหรือมะเร็งตับกดท่อทางเดินน้ำดี ตับอักเสบ ตับแข็ง เป็นต้น ซึ่งหากพบสีผิวเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ

3) ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroid) ทำให้สีผิวดูเหลืองผิดปกติได้ เนื่องจากภาวะนี้มีผลทำให้สารแคโรทีนในร่างกายสูงขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะนี้ ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการอื่นที่เด่นชัดกว่า นำมาก่อน เช่น ผิวแห้ง ผมร่วง ท้องผูก น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ ประจำเดือนมามากผิดปกติ เป็นต้น 

นอกจากนั้น สีผิวดูเหลืองขึ้น ยังพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน การรับประทานยาบางชนิดมากเกินไป การทานยาสมุนไพรบางชนิด ผู้ป่วยโรคเบื่ออาหารกลุ่ม anorexia nervosa อีกด้วย ทั้งนี้โรคอื่นๆ ที่พบได้ ยังขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุของผู้ป่วย และการประเมินอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

สีผิวที่เปลี่ยนไป อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไปนะคะ ลองมองหาสาเหตุข้างต้น เพื่อสุขภาพที่ดีกันค่ะ

ครั้งหน้า หมอจะมาพูดถึงผิวสีแดงกันบ้าง รอติดตามนะคะ

โดย พญ.ศกุนี  นิรันดร์วิชย

References:

  • Long V. Dermatology and comic book characters. JAMA dermatol. 2016;152(6):697.
  • Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine, 8th edition
  • Shaw JA, Koti M. Orange discoloration of  the palms. CMAJ. 2009;180(8):895.

***หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาสุขภาพ สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกที่นี่ เพื่อ log in แล้วพิมพ์คำถามของคุณ หลังจากนั้นรอรับคำตอบทาง email โดยเราจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับปัญหาของคุณมากที่สุด เพื่อตอบคำถามนั้นๆ 


Loading ...
Success