พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

โรคมะเร็ง

  • Q การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
    29-10-2018 16:02:02

    สวัสดีค่ะ เรียนสอบถามคุณหมอค่ะ คุณแม่อายุ 77 ปี ป่วยเป็นมะเร็งตับ (ขนาด 17.5 เซนติเมตร) เพิ่งทราบเมื่อเดือนธันวาคม 2561 คุณหมอเจ้าของไข้แจ้งว่า คุณแม่จะอยู่ได้อีก 6 เดือน ซึ่งตอนนี้ เกินกำหนด 6 เดือนแล้ว แต่ว่าท่านอ่อนแรงลงมาก ตาจะหลับตาตลอด ไม่กลืนข้าวกลืนน้ำ จะอมไว้ในปาก แล้วค่อยๆ กลืน คุณหมอเจ้าของไข้บอกว่า แม่จะทานน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงนี้เราจะดูแลให้อาหารท่านอย่างไรได้บ้าง ไม่อยากให้อาหารทางสายยางค่ะ หรือเจาะใส่สายต่างๆ ค่ะ (ท่านแจ้งไว้ว่าไม่ต้องเจาะอะไรแม่ ปล่อยแม่อยู่ไปเรื่อยๆ เจาะแล้วแม่เจ็บ แม่บอกว่าเจาะก็ตาย ไม่เจาะก็ตาย) หัวอกคนเป็นลูกเครียดมากเลยค่ะ


    31-10-2018 15:01:33

    สวัสดีค่ะ 

    การให้อาหารทางสายยาง หรือน้ำเกลือไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายดีขึ้นค่ะ และไม่ช่วยเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตด้วยค่ะ

    ดังนั้นอย่างที่คุณแม่และลูกสาวตัดสินใจว่าจะไม่ใส่สายยาง หรือให้อาหารทางน้ำเกลือเหมาะสมแล้วค่ะ 

    การดูแลด้านอาหาร เป็นปกติที่คุณแม่จะทานอาหารน้อยลง และไม่อยากทาง แต่ส่วนมากคนไข้จะไม่มีอาการทุกข์ทรมานจากการไม่รับประทานอาหาร เพราะร่างกายไม่ได้ต้องการพลังงานจากสารอาหารมากเท่าไร แต่เข้าใจหัวอกลูกสาวนะคะ ที่เห็นคนที่เรารักรับประทานอาหารไม่ได้จะเกิดความกังวล

    ที่ทางญาติช่วยทำได้คือ เปลี่ยนอาหารเป็นรูปแบบน้ำ เช่นนม อาหารปั่น น้ำซุป หรือโยเกิร์ตคนไข้จะรับประทานได้ง่ายกว่าอาหารที่ต้องเคี้ยวค่ะ ดูแลสุขภาพในช่องปาก จิบน้ำหรืออมน้ำแข็งบ่อยๆจะทำให้คนไข้รู้สึกสบายตัวขึ้น รักษาความชุ่มชื้นที่ริมฝีปาก และที่จริงญาติก็ช่วยดูแลคนไข้ทางอื่นได้นอกเหนือจากการโฟกัสเรื่องอาหาร เช่นบีบนวด เช็ดตัว เพราะคนไข้ระยะสุดท้ายมักไม่ต้องการรับประทานอาหารค่ะบางครั้งการไม่รับประทานอาหารคนไข้อาจจะสบายตัวกว่าด้วยค่ะ ยิ่งกลุ่มโรคมะเร็งในช่องท้อง

    ช่วงนี้จะเหนื่อยมากทั้งญาติและคนไข้นะคะ หมอขอเป็นกำลังใจให้นะคะ 

    ขอบคุณค่ะ

  • Q อ่อนเพลีย หลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาด
    17-06-2018 00:53:08

    คือพ่อเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่3กว่า แต่ตอนนี้ผ่าออกแล้วที่รพ.จุฬาภรณ์ค่ะ แต่มะเร็งมันเหมือนลาม คุณหมอเลยต้องตัดต่อมบางอย่างออก ไม่ทราบว่าต่อมอะไร ทำให้ตัวบวมขาบวม และไข่บวมค่ะ หลังจากนั้นยุบ แต่หลังผ่าตัดพ่อมีอาการอ่อนเพลียมากๆ ไม่สดชื่น หมดแรงตลอดเวลา ถามหมอ หมอก็บอกคิดไปเอง แต่พ่อเค้าหมดแรงจริงๆค่ะ อยากทราบว่ามันเป็น effectหลังผ่าตัดหรอคะ ทำอย่างไรถึงจะหายจะ พ่อลองกินยาทุกอย่างแล้วไม่หายค่ะ


    19-06-2018 14:44:34

    สวัสดีค่ะ 

    อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ ว่าที่ตัดออกไปคือ

    ลูกอัณทะ หรือ ต่อมลูกหมาก คะ 

    และชื่อยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากค่ะ

    เพราะสาเหตุที่ทำให้อ่อนเพลียในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก นั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุมากค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

  • Q สอบถามการทำ CT scan
    10-05-2018 19:21:00

    สวัสดีครับ พี่สาวผมมีปัญหาสุขภาพและปรึกษาเกี่ยวกับการทานอาหารไม่ค่อยได้ มักจะอาเจียรออกมาจนน้ำหนักลดลงมาก ปรึกษาแพทย์แล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุ โดยแพทย์แนะนำให้ทำ CT scan ช่วงท้องเพื่อวินิจฉัยครับ ทีนี้พี่สาวได้ยินมาว่าการทำ CT scan จะทำให้ผู้ที่รับการตรวจรับสารกำมันตรังสี และเสี่ยงเป็นมะเร็ง จึงกังวลและยังไม่กล้ารับการตรวจ CT scan ครับ ผมจึงขอสอบถามข้อมูลความเสี่ยงจากการตรวจ CT scan ที่ถูกต้องด้วยครับ ขอบคุณครับ


    11-05-2018 18:55:05

    สวัสดีค่ะ

    การทำ CT scan มีความจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี (contrast media) เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้น้อยมากประมาณ 1 ต่อ 2000 รายค่ะ  แต่ทว่าประชากรทั่วไปมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงถึง 1 ต่อ 5 ราย ในตลอดช่วงอายุขัย

    ดังนั้นในทางการแพทย์หากสงสัยโรคร้ายแรง โดยเฉพาะในกรณีของพี่สาวคุณ ที่มีอาการอาเจียน น้ำหนักลดลงเยอะ ก็ยิ่งทำให้สงสัยโรคร้ายแรงโดยเฉพาะโรคมะเร็ง เมื่อพิจารณาชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ที่ได้เมื่อเทียบกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งทางสารทึบรังสี การตรวจ CT scan เป็นเรื่องที่สมควรพิจารณาทำค่ะ เพราะถ้าหากเจอโรคร้ายแรงตั้งแต่ต้นๆก็จะได้รับผลการรักษาที่กว่าค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

  • Q มะเร็งเต้านม
    29-01-2018 13:42:35

    คุณหมอคะ อยากทราบถึงกระบวนการเกิดมะเร็งเต้านมค่ะ


    29-01-2018 16:37:51

    สวัสดีค่ะ

    การเกิดของโรคมะเร็งเต้านมเกิดจากหลากหลายสาเหตุร่วมกันค่ะ ทั้งด้านพันธุ์กรรม ประวัติการตั้งครรภ์และประจำเดือน รวมถึงปัจจัยการใช้ชีวิตค่ะ

    กระบวนการเกิดมะเร็งเต้านม มักจะเกิดจากการเติบโตผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมค่ะ หากตรวจพบก่อนที่เซลล์นี้จะกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง การผ่าตัดเอาแค่ก้อนระยะก่อนเป็นมะเร็งเพียงอย่างเดียวก็หายขาดค่ะ จึงแนะนำให้ตรวจmammogram อย่างน้อยปีละครั้งในผู้หญิงทั่วไปที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไปค่ะ

    ด้านพันธุ์กรรมที่เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม : คนที่มีประวัติครอบครัวของมะเร็งเต้านมและรังไข่หลายๆคน หรือเกิดในผู้ป่วยอายุน้อยในครอบครัวค่ะ รวมไปถึงครอบครัวที่มีมะเร็งเต้านมในผู้ชาย

    ด้านการใช้ชีวิต : ผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดกิน การสูบบุหรี่ และหากไม่เคยให้นมบุตรหรือตั้งครรภ์ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมค่ะ

    ขอบคุณค่ะ 

  • Q พบก้อนที่เต้านมซ้าย
    13-05-2017 17:25:21

    ดิฉันอายุ 43 ปี ตรวจmemogramพบก้อนขนาด 5 มม มี จะเป็นมะเร็งหรือไม่ และหากเป็นจะรักษาอย่างไร มีโอกาสหายหรือไม่คะ


    13-05-2017 23:35:41


    ปกติแล้วผล mamograms จะมีค่า BIRAD ประกอบมาด้วยค่ะ (ค่า BIRAD จะดูขนาดและหน้าตาของก้อน, ลักษณะหินปูนที่เกาะเนื้อเต้านม) ถ้าค่า BIRAD 4-5 มีโอกาสจะเป็นมะเร็งเต้านมสูง แนะนำให้ตรวจชิ้นเนื้อค่ะเพื่อยืนยันการวินิจฉัยค่ะ (ถ้า BIRAD 1-2 คือปกติ, BIRAD 3 คือยังอยู่ในขั้นต้องเฝ้าระวัง จะแนะนำใหัตรวจ mamogram ซ้ำในอีกหกเดือนค่ะ)

    ดังนั้นจากข้อมูลที่ได้มา ยังไม่สามารถระบุความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมได้ค่ะ แนะนำให้นำผล mamogram ไปปรึกษาแพทย์อีกครั้งนะคะ

    การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม ตัองมาจากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาเท่านั้นค่ะ การรักษาขึ้นกับระยะของโรค หากเป็นระยะต้นสามารถหายขาดได้ค่ะ 


  • Q การตรวจหาความเสี่ยงของมะเร็ง
    05-05-2017 16:05:47

    การตรวจเลือดเราสามารถที่จะหาความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้หรือไม่


    05-05-2017 21:16:34

    สามารถตรวจได้เฉพาะบางโรคมะเร็งค่ะ เช่นการตรวจเลือดหายีนมะเร็งเต้านมชนิด BRCA mutation ในคนที่มีประวัติครอบครัวมะเร็งเต้านมและรังไข่หลายๆคนค่ะ และการตรวจหายีนความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ (APC, MMR) ในคนที่ประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัวชัดเจนเช่นเดียวกัน

    สำหรับการตรวจค่ามะเร็งในเลือดเช่น CEA,AFP, PSA,CA12-5 ไม่ได้ช่วยบอกความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งค่ะ

    ถ้าอยากตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก วิธีที่ได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุด คือตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตามช่วงอายุค่ะ เช่น

    • PAP smear สำหรับมะเร็งปากมดลูก ในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว
    • Mamogram สำหรับมะเร็งเต้านม ในผู้หญิงอายุ40-50 ปีขึ้นไป
    • ตรวจอุจจาระหรือส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

  • Q เลือดออกที่หัวนม
    31-03-2017 14:46:19

    ดิฉัน อายุ 28 ปี ประมาณ ม.ค.60 มีเลือดออกที่หัวนมด้านซ้าย เลือดออกเล็กน้อย พอเวลากดจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย ไปพบหมอ หมอคลำแล้วไม่เจอก้อน หมอนัด 1 สัปดาห์ เพื่อดูอาการและ U/S เต้านม หลังจาก 1 สัปดาห์ U/S ผล หมอบอกว่าปกติ ตอนที่ U/S ไม่มีเลือดออกแล้ว หลังจาก 2 สัปดาห์ เลือดออกที่หัวนมอีกครั้ง ไปพบหมอ ดูผล U/S เดิม พบมี ก้อนประมาณ 2 มม. หมอนัดดูอาการ 1 เดือน ถ้ามีเลือดออกอีก วางแผนจะผ่าท่อน้ำนมและให้ยาฆ่าเชื้อ มาตามนัด 1 เดือน เลือดหยุดไหลแล้ว ทุกครั้งที่มาพบหมอตามนัด เลือดจะหยุดไหลตลอดค่ะ คุณหมอบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก ที่พบก้อน 2 มม.ไม่ต้องกังวล คล้ายๆเป็นสิวค่ะ จากนั้นประมาณ 18 วัน เลือดออกที่หัวนมอีกครั้ง ดิฉันมาพบหมอ คลำไม่เจอก้อน หมอสงสัยอาจจะติดเชื้อ และก้อนที่เจอ 2 มม.จากผล U/S เดิม ไม่อันตราย ดิฉันอยากสอบถามคุณหมอค่ะ ว่าอาการที่เลือดออกที่เต้านม เดี๋ยวก็มีเลือดออก เดี๋ยวก็หยุด เกิดจากสาเหตุอะไรคะ และจะเป็นอะไรร้ายแรงไหมคะ ตอนนี้ดิฉันมีก้อนที่บริเวณขาหนีบ ประมาณ 2 ซม. สาเหตุเกิดจากอะไรคะ ดิฉันกังวลมากค่ะ ว่าจะเป็นอะไรมากกว่านี้ ขอบคุณคุณหมอมากคะ


    31-03-2017 18:17:22

    สวัสดีค่ะ 

    อาการเลือดออกจากหัวนม นั้นเกิดจากหลายสาเหตุค่ะ โดยส่วนมากเป็นความผิดปกติของท่อน้ำนมชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง (papilloma) ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี ที่มีเลือดออกจากหัวนม มีส ถิติว่าเป็นมะเร็งเต้านมแค่ 3% ค่ะ ดังนั้นถ้าตรวจร่างกายปกติ และ U/S พบก้อนขนาดเล็กไม่มีการเปลี่ยนแปลงโอกาสจะเป็นมะเร็งเต้านมน้อยค่ะ แนะนำให้ตรวจติดตามกับคุณหมอที่ดูแลดูอย่างต่อเนื่องนะคะ เพื่อคอยตรวจร่างกายโดยเฉพาะเต้านมและต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้เป็นระยะๆ

    สำหรับก้อนที่ขาหนีบ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งค่ะ โอกาสที่จะสัมพันธ์กับเรื่องเลือดออกที่หัวนมน้อยค่ะ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจเพิ่มเติม รวมถึงการตรวจภายในด้วยค่ะ 

Loading ...
Success