พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

  • Q สอบถาคุณหมอครับ
    22-08-2016 22:18:13

    ขออนุญาตท้าวความก่อนนะครับ คุณพ่อ อายุ 58 ปี เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ทำผ่าตัดบายพาสไปแล้วประมาณ 5 เดือน ตอนนี้อาการดีขึ้นแล้ว ยังมีเหนื่อยง่ายเป็นบางครั้ง เมื่อก่อนคุณพ่อสูบบุหรี่ตั้งแต่ผมจำความได้เลยครับ เพิ่งเลิกตอนที่ป่วยนีหลังผ่าตัดแล้วรู้สึกว่า ไม่อยากให้คุณพ่อเป็นอะไรไปอีก ผมพาไปพบคุณหมอตรงตามนัดตลอด ปรับเรื่องอาหารการกิน และมองหาทางป้องกัน ไปอ่านเจอเรื่องการทำคีเลชั่น ว่า กำจัดโลหะหนักในร่างกายได้ จึงลองพาคุณพ่อไปตรวจที่คลินิก มีตรวจเลือดและปัสสาวะพบว่ามีสารโลหะหนักตามเนื้อเยื่อและหลอดเลือดสูง เสี่ยงจะเป็นหลอดเลือดอุดตันซ้ำอีก ที่คลินิกแนะนำให้ทำคีเลชั่น ช่วยลดโลหะหนักที่เกาะผนังเส้นเลือด บอกว่าถ้าลดโลหะหนัก จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคเดิมซ้ำอีกได้ สามารถตรวจยืนยันได้ว่าสารโลหะหนักลดลงจริงๆ จึงอยากรบกวนถามคุณหมอครับว่า ถ้าผมจะพาคุณพ่อไปลองทำคีเลชั่นจะเป็นอะไรไหมครับ อยากให้ท่านดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะคิดว่าลองก็ไม่เสียหายอะไร มีผลตรวจพิสูจน์ชัดเจนได้ด้วยว่าค่าโลหะหนักลดลงหรือเปล่า เผื่อว่าถ้าทำแล้วได้ผลดีจะได้ไปทำกันทั้งบ้านครับ


    23-08-2016 23:12:47

    คีเลชั่น (Chelation) คือการให้ยาหรือสารเคมีเข้าไปในร่างกายเพื่อกำจัดโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารหนู และสารโลหะที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแต่ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ควรจะเป็น เช่น ธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสีที่จับอยู่ในผนังหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆ ให้ออกจากร่างกายซึ่งสารเหล่านี้ได้รับเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านหลายช่องทาง ทั้งจากการบริโภคเข้าไป กับอาหาร และการได้รับเข้าสู่ร่างกายจากสภาวะ แวดล้อมที่เป็นพิษ ซึ่งการสูบบุหรี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญค่ะ ในแง่ของการใช้รักษาเส้นเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด (Arterosclerosis) มีงานวิจัยที่ใหญ่มากทำในประเทศอเมริกาและแคนนาดาชื่อ Effect of Disodium EDTA Chelation Regimen on Cardiovascular Events in Patients With Previous Myocardial Infarction (The TACT Randomized Trial) พบว่าผลที่ได้ในกรณีของการลดอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดซ้ำนั้น แตกต่างจากยาหลอกเพียงเล็กน้อย ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าทำคีเลชั่นแล้วจะช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอุดตันซ้ำอีกค่ะ

  • Q High blood pressure
    16-08-2016 12:00:11

    ความดันสูง มีวิธีทำให้มันต่ำโดยไม่ต้องกินยามั้ยครับ


    17-08-2016 11:29:07

    เป็นคำถามที่ดีมากเลยค่ะ หมอเชื่อว่าทุกคนที่เริ่มตรวจพบว่าความดันโลหิตสูงต้องมีคำถามนี้ขึ้นมาในใจอย่างแน่นอน หมอขอแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมความดัน 10 ข้อดังนี้ค่ะ 1. ลดขนาดพุง หากคุณPisityo เป็นคนหนึ่งที่มีไขมันส่วนเกิน โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว ถือเป็นสัญญาณอันตรายค่ะ (แม้จะยังไม่มีความดันโลหิตสูงก็ตาม) ในผู้ชายโดยทั่วไป ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่อรอบเอวเกิน 40นิ้ว ค่ะ 2. ออกกำลังกายอย่างน้อย30นาทีทุกวันค่ะ ค่อยๆปรับให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดความดันโลหิตได้โดยเฉลี่ย 4-9 mmHg วิธีนี้เหมาะมากสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มตรวจพบความดันค่อนสูง เพราะจะช่วยป้องกันการดำเนินไปเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ค่ะ 3. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพค่ะ วิธีนี้ถ้าเลือกอาหารได้ถูกต้องจะได้ผลดีมาก ช่วยลดความดันได้สูงสุด 14mmHg ด้วยอาหารกลุ่มที่เรียกว่า DASH Diet แนะนำโดย The American Heart Association และ US guidelines for treatment of high blood pressure ค่ะ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dashdiet.org) 4. ลดเค็ม คือลดปริมาณเกลือโซเดียมในอาหารค่ะ ควรให้ไม่เกิน 2,300 มก./วัน หรือถ้าดียิ่งไปกว่านั้นคือไม่เกิน 1,500 มก./วันค่ะ วิธีนี้จะสามารถช่วยลดความดันได้ 2-8mmHg อย่าลืมว่าในอาหารทุกชนิด แม้เราไม่เติมเค็มก็มีเกลือโซเดียมอยู่ปริมาณหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป การอ่านฉลากอาหารดูปริมาณโซเดียมเป็นอีกสิ่งที่สำคัญค่ะ 5. ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และลดประสิทธิภาพการควบคุมความดันของยาลดความดันโลหิตด้วยค่ะ 6. เลิกบุหรี่ (ซึ่งคงจะเป็นข้อแนะนำสำหรับทุกโรคในโลกนี้ค่ะ) หลังสูบบุหรี่ความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้น และในระยะยาวทำให้ประสิทธิภาพความยืดหยุ่นของเส้นเลือดปอดและหัวใจแย่ลงอีกด้วย 7. ลดปริมาณคาเฟอีน กรณีนี้เป็นผลที่พบเฉพาะบุคคลนะคะ ในคนที่รู้สึกว่าหลังดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนแล้วใจสั่น หรือถ้าไม่แน่ใจ แนะนำให้ลองวัดความดันโลหิตภายใน 30นาทีหลังดื่มดูว่าสูงขึ้นหรือไม่ค่ะ ถ้าพบว่าความดันสูงขึ้นก็ควรลดปริมาณการบริโภคลงค่ะ 8. ความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม (เพราะเมื่อเครียดเรามีแนวโน้มที่จะอยากอาหารขยะ,ดื่มเหล้า,สูบบุหรี่มากขึ่น เป็นต้น) พยายามกำจัดสาเหตุของความเครียด และ หาวิธีผ่อนคลายความเครียดอย่างถูกวิธีเป็นประจำทุกวันค่ะ 9. หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองเป็นประจำ และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินและควบคุมความดันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน แนะนำให้พบแพทย์ก่อนนะคะ เพราะอาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยเป็นระยะสั้นๆเพื่อไม่ให้ความดันสูงมากจนเป็นอันตราย และเมื่อความดันลดลงมาถึงจุดที่ดีแล้ว คุณหมออาจประเมินให้ลดและหยุดยาได้ ในระยะยาวเมื่อความดันคงที่ดีแล้ว อย่างน้อยๆควรเช็คทุก 6 เดือนค่ะ 10. ข้อสุดท้ายคือ ต้องหาตัวช่วยค่ะ ในชีวิตคนเราสังคมรอบตัวมีอิทธิพลมากในการใช้ชีวิต พยายามบอกคนรอบข้างถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ และหาแนวร่วมที่จะช่วยส่งเสริมให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวค่ะ หมอขอช่วยเป็นกำลังใจให้คุณPisityo บรรลุเป้าหมายในการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนนะคะ

  • Q คำถามเกี่ยวกับอาหารเสริมค่ะ
    13-08-2016 12:26:29

    สวัสดีค่ะ 'ตอนนี้ทาน Zinc, Copper, Ferrous, Biotin เป็นแร่ธาตุเสริมอยู่ ทานแร่ธาตุเสริมหลายๆตัวร่วมกันแบบนี้มันจะตีกันมั๊ยคะ แล้วทานไปนานๆตับไตจะพังมั๊ยคะ' ขอบคุณนะคะ


    14-08-2016 11:39:14

    การรับประทานอาหารทุกชนิดมีข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง อาหารเสริมทุกชนิดดก็เช่นกันค่ะ ต้องทานให้เหมาะกับสิ่งที่ขาด โดยประเมินจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวันและการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ว่าควรต้องเสริมอะไร มากน้อยแค่ไหน การกิน Zinc, Copper, Ferrous, Biotin เป็นแร่ธาตุเสริมร่วมกันไม่มีปัญหาอะไรค่ะ แต่แร่ธาตุที่เป็นอาหารเสริมนั้นมีหลายรูปแบบหลายform ดังนั้นชนิดและปริมาณที่กินก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาใช้พิจารณาด้วยค่ะ จะดีมากเลยถ้าหมอทราบว่าคุณAaa กินแร่ธาตุเสริมทั้งหมดที่กล่าวมานี้อย่างไร เพื่อจุดประสงค์อะไรบ้าง เพราะถ้ากินในปริมาณที่เหมาะสมอย่างถูกวิธีก็จะมีประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอนค่ะ

Loading ...
Success