พูดคุยกับแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว ผ่านแอพ Chiiwii

  • Q อาการPMS
    16-11-2016 23:04:36

    คิดว่าตนเองมีอาการpmsก่อนประจำเดือนมาหรือระหว่างนั่นค่ะ มีอาการปวดเมื่อยร่างกาย เป็นไข้ต่ำๆ เหน็บชา อารมณ์หงุดหงิดง่าย จิตตก คล้ายซึมเศร้า รู้สึกตัดสินใจผิดบ่อยครั้ง พบว่าพักนี้เป็นมากขึ้นจนเริ่มกระทบกับชีวิต จึงขอรบกวนปรึกษาหาทางแก้หรือการรักษา บรรเทาอาการค่ะ


    17-11-2016 12:22:54

    ฟังดูเหมือนจะใช่ค่ะ แต่การรักษาpms บางครั้งต้องใช้ยาในส่วนที่ช่วยปรับการนอน ความเครียด ร่วมกับฮอร์โมนในการรักษา และก่อนรักษาต้องประเมินว่าเหมาะที่จะใช้ยาจริงหรือไม่ ถ้าให้ดี ควรพบแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และข้อบ่งชี้การรักษาค่ะ 

    เบื้องต้น แนะนำให้ออกกำลังกาย และพักผ่อนมากๆ พยายามลดความเครียดโดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือนค่ะ 


  • Q เรื่องต้องการมีบุตร
    14-11-2016 16:01:43

    พอดีวางแผนการมีบุตร ดิฉันอายุ 29 ปีสามีอายุ 35โดยได้ตรวจร่างกายเบื้องต้นกับคุณหมอทั้งชายและหญิง โดยทุกเดือน จะนับรอบการตกไข่ ประจำเดือนดิฉันมีรอบ 30 วัน ซื้อแผ่นตรวจการตกไข่ มาตรวจแล้วมีการตกไข่ แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำแต่ก็ยังไม่ได้ผล เลยไม่รู้ต้องทำยังไง ขอคำแนะนำด้วยนะคะ


    30-11-2016 15:35:19

    ถ้าลองพยายามตรงวันตกไข่แล้วยังไม่สำเร็จติดกัน3-6 รอบ อาจจะมีปัญหาที่ลึกซึ้งกว่านั้น เช่นไข่ตกไม่สมบูรณ์ ไข่คุณภาพไม่ดี อสุจิมีปัญหาเจาะไข่ไม่ได้ แนะนำว่าควรพบแพทย์ที่ดูแลด้านนี้อย่างจริงจังเพื่อตรวจเพิ่มเติม อาจต้องใช้ยากระตุ้นไข่ช่วยเพื่อให้คุณภาพไข่ดีขึ้น ต้องประเมินคุณภาพน้ำเชื้อฝ่ายชายด้วยค่ะ

  • Q หลังผ่าคลอด 7 เดือนปวดหน่วงท้อง
    14-11-2016 11:41:41

    ผ่าคลอดผ่านมาเกือบ 7 เดือน มีอาการปวดหน่วงๆหน้าท้องถ้าเดินมากกับอุ้มลูก เริ่มเป็นมาสามเดือนก่อนเพราะมีช่วงนั้นเดินเยอะ อาการปวดจนตอนนี้ยังไม่หายจะมีปวดมาก ปวดน้อย แบบนี้ควรไปพบแพทย์ หรือนานไปจะหายเองค่ะ


    14-11-2016 11:46:51

    โดยทั่วไปถ้าเกี่ยวข้องกับการผ่าตัด มักจะปวดในช่วงเดือนแรกเท่านั้นค่ะ ถ้ามาปวดช่วงหลังน่าจะมีสาเหตุอื่น อาจเป็นแค่กล้ามเนื้อหน้าท้องเกร็งตัวจากการยกของหนักหรืออุ้มลูก ออกกำลังกายหนัก เคลื่อนไหวผิดท่า ถ้าเป็นจากกล้ามเนื้อ พักผ่อน งดออกกำลัง 1สัปดาห์ก็น่าจะหาย ถ้าไม่ดีขึ้น อาการเป็นมาก หรือร่วมกับมีอาการอื่นเช่น ตกขาว มีเลือดออก ควรพบแพทย์ตรวจเพื่อให้ทราบสาเหตุชัดเจนจะดีกว่าค่ะ

  • Q ทอมกับดี้ สามารถมีลูกด้วยกันได้ไหมคะ
    11-11-2016 14:06:52

    เคยอ่านเจอบทความเกี่ยวกับทอมกับดี้สามารถมีลูกได้ โดยทำมาจากไขกระดูกสันหลัง อยากทราบว่าทำได้จริงไหมคะ ถ้าทำได้ต้องไปทำที่ รพ.ไหน คือเราสองคนอยากมีลูกด้วยกัน พออ่านเจอบทความทำให้มีกำลังใจที่จะมีลูกด้วยกัน ไม่ทราบว่าจะทำได้ไหมคะ


    11-11-2016 17:47:05

    ทำไม่ได้ค่ะ ต้องสร้างขึ้นจากไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิจากชายเท่านั้นค่ะ ซึ่งคู่ที่จะทำเด็กหลอดแก้วได้ต้องเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฏหมายด้วยค่ะ

  • Q วิตามินบี สำหรับเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์และทานระหว่างตั้งครรภ์
    06-11-2016 22:48:35

    วิตามินบี สำหรับเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์และทานระหว่างตั้งครรภ์ เท่าที่อ่านมาจาก เว็บที่ไม่ใช่เป็นบทความจากแพทย์หรือจากแพทย์แต่ไม่แสดงชื่อหรือไปก๊อปมาแต่ไม่ได้ให้เครดิตแต่มีโฆษาอาหารเสริมข้างเนื้อหา ด้วยอัตราส่วน 1:1(ชื่อโคตรน่าเข้าผิดว่าเป็นเว็บหมอ) วิตามิน บี ที่สำหรับ คนท้องมีดังนี้ วิตามินบี 1 วันละ 1.5-1.6 mg. วิตามินบี 2 ควรรับประทานวันละ 1.6 mg. วิตามินบี 6 วันละ 2.2 mg. วิตามินบี 9 (กรดโฟลิก) วันละ 360-400 mcg. วิตามินบี 12 ก็ควรจะได้รับวันละ 2.2 mg. วิตามินซี ควรได้รับวันละ 70-95 mg. วิตามินอี วันละ 10 IU วิตามินดี แคลเซียม วันละ 1,200-1,500 mg. ไอโอดีน ควรได้รับวันละ 175-200 mcg. ธาตุเหล็ก ควรได้รับวันละ 30 mg. แมกนีเซียม ควรรับประทานวันละ 300-355 mg. ฟอสฟอรัส ควรได้รับวันละ 1,200 mg. ขึ้นไป ซีลีเนียม วันละ 65 mcg. สังกะสี หรือ ซิงค์ วันละ 15 mg. น้ำมันปลา (Fish oil) โปรตีน แต่ในทางกลับกัน เว็บที่น่าเชื่อถือ กลับบอกแค่ เหล็กกับโฟลิค แต่เรื่องของวิตามินบี มีขนาดยาที่ไม่ได้บอกไว้ จึงอยากทราบ เรื่องของปริมาณวิตามิน บี ที่จำเป็นและขนาดที่ควรได้รับ


    07-11-2016 11:04:13

    วิตามินที่สำคัญสำหรับก่อนตั้งครรภ์ มีตัวเดียวค่ะ คือโฟลิค ปริมาณ 0.4มก. จำเป็นสำหรับการป้องกันความพิการของทารก โดยเฉพาะในหญิงที่มีความเสี่ยงเช่น อายุมากกว่า35ปี แต่โดยทั่วไปโฟลิคที่มีขายในไทยจะเป็นขนาด5มก ซึ่งไม่เป็นอันตรายแม้ว่าจะรับประทานเกินขนาดที่ต้องการในแต่ละวัน ควรรับประทานก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย1เดือนค่ะ ดังนั้นรับประทานวันละ1เม็ดก็เพียงพอค่ะ

    ส่วนวิตามินอื่นๆ มีความต้องการพื้นฐานต่อร่างกายในแต่ละวัน แต่ปริมาณที่ต้องการต่ำมากค่ะ ไม่จำเป็นต้องได้รับเสริม เนื่องจากเราสามารถรับจากอาหารปกติที่รับประทานได้เพียงพอ ยกเว้นเราอยู่ในพื้นที่กันดาร ขาดสารอาหาร ไม่ได้รับประทานอาหารเพียงพอค่ะ 

    วิตามินสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่สำคัญมีแค่2ตัวค่ะ คือโฟลิคและธาตุเหล็ก ซึ่งโฟลิคจะมีความสำคัญในช่วงไตรมาสแรก เกี่ยวกับการสร้างระบบประสาทและสมอง ป้องกันความพิการของทารกค่ะ ขนาดที่ต้องการเท่ากับก่อนตั้งครรภ์ แต่เมื่อพ้นไตรมาสแรกแล้ว เหล็กจะมีความสำคัญตามมาเนื่องจากเหล็กเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดที่จะนำพาสารอาหารสู่เซลล์เพื่อสร้างอวัยวะทั้งร่างกาย เหล็กที่ต้องการคือขนาด 200 มก ค่ะ

    วิตามินอื่นก็รับได้จากอาหารเพียงพอด้วยเหตุผลเดียวกันค่ะ อาจจะมีบางตัวที่สำคัญรองลงมาซึ่งอาจต้องพิจารณารับเสริมในบางราย ได้แก่แคลเซียม 

    แคลเซียมควรได้รับขณะตั้งครรภ์ 1000-1200มก เราสามารถรับจากอาหารได้ประมาณ 300-400มก ดังนั้นควรเสริมแคลเซียมจากนมเพิ่มอีก600-800มก ซึ่งเทียบเท่ากับนมสด 2-3กล่องต่อวัน แต่ในปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานเรื่องการกระตุ้นภูมิแพ้นมวัวในทารกสัมพันธ์กับแม่ที่รับประทานนมต่อวันมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้เสริมแคลเซียมเม็ดขนาด 600มก และลดปริมาณนมวัวเหลือ200-500มก หรือนมสด1-2กล่องพอค่ะ

    อีกตัวที่ในวงการแพทย์มีใช้ให้เห็นจริงจังคือวิตามินบี6 เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ในหญิงตั้งครรภ์ที่แพ้ท้องรุนแรงพบว่ามีระดับวิตามินบี6ต่ำเกินมาตรฐานมาก เมื่อเสริมวิตามินบี6แล้วจะช่วยลดอาการแพ้ท้องรุนแรงได้ แต่ไม่ได้จำเป็นต้องเสริมในทุกรายค่ะ และหากจะเสริมก็แค่ช่วงแพ้ท้องในไตรมาสแรกค่ะ

    สรุปว่าวิตามินที่จำเป็นมีแค่โฟลิคก่อนตั้งครรภ์ และโฟลิคกับเหล็กสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนตัวอื่นๆแนะนำให้รับจากอาหารปกติที่รับประทานในแต่ละวัน ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ5หมู่ ควรรับประทานผักผลไม้ น้ำเปล่าเป็นประจำ จะไม่เกิดภาวะขาดสารอาหารแน่นอนค่ะ 

  • Q ปวดปีกมดลูกด้านซ้ายเวลามีประจำเดือน
    06-11-2016 08:28:52

    สวัสดีคะ ดิฉันอายุ 30ปี เคยผ่าคลอด1ครั้งเมื่อปี57 ในช่วง2-3เดือนมานี้ ถ้ามีประจำเดือนจะรู้สึกปวดปีกมดลูกด้านซ้าย ยิ่งกด ยิ่งเจ็บ แต่ถ้าไม่มีประจำเดือนก็ไม่รู้สึกปวดนะคะ ปกติ อยากทราบว่า ต้องทานยาอะไรไหมคะ หรือไปให้คุณหมอตรวจภายใน (ดิฉันเคยตรวจภายในหลังคลอด 1เดือน คะ) ด้วยรักและเคารพ ขอบคุณคะ


    06-11-2016 10:39:07

    ถ้าบอกว่าเคยคลอดปี57 แล้วตรวจหลังคลอด ตอนนี้ปี59 แล้วก็ควรได้รับการตรวจซ้ำประจำปีนะคะ ยิ่งถ้ามีอาการผิดปกติยิ่งควรไปตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุค่ะ อาจมีการอักเสบ เนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ค่ะ 

  • Q ปวดท้องเมนมากกว่าปกติ
    06-11-2016 00:19:59

    อยากถามว่าเกิดจากอะไร อาการ 1.อายุ 31 โสด ไม่มีสามีและลูก ปวดท้องเมน มากขึ้นทั้งที่เมื่อก่อนก็ปวดไม่มากแต่ตอนนี้ก็ต้องกินยาแก้ปวดตลอด ปวดจนตัวงอ นอนก็ไม่หลับ ทรมานมาก 2.เมนมาน้อยลง จากที่มา 5-7 วัน เหลือ3-4 วัน วันแรกไม่ปวดมานิดเดียวสีคล้ำ วันที่ 2,3 มามากขึ้น และจะปวดท้องมาก วันที่ 4 ไม่ปวดมานิดเดียวเหมือนวันแรก


    06-11-2016 10:37:08

    อาการปวดประจำเดือน เกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ อาจเป็นแค่การอักเสบ ซึ่งใช้ยารักษาได้ หรืออาจเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก ชอคโกแลตซีสต์อายุ31 แม้ว่าจะโสด ก็ควรได้รับการคัดกรองความเสี่ยงเรื่องมะเร็งปากมดลูก และยิ่งมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนด้วย ก็ยิ่งต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุค่ะ แนะนำให้ไปตรวจนะคะ

  • Q หลังตรวจภายใน
    05-11-2016 20:32:51

    อยากทราบว่า เป็นคนโสด ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ตรวจภายใน จะมีเลือดออกทุกครั้ง 2-3 ปี ตรวจครั้ง แต่ออกทุกครั้ง เป็นอะไรไหมคะ


    11-11-2016 17:45:48

    ถ้าผลตรวจออกมาปกติ ไม่เป็นไรค่ะ 

    อาจเป็นเลือดที่ออกจากการเสียดสีของเครื่องมือ เพราะคนโสดจะมีช่องคลอดแคบ และถ้าอายุมากด้วย ช่องคลอดอาจจะแห้งค่ะ

    ถ้าอายุ<40ปี แนะนำฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก และเลื่อนเวลาตรวจเป็นทุก2ปีได้นะคะ 

  • Q การรักษาช็อคโกแลตซีสต์ในรังไข่
    05-11-2016 15:38:49

    รบกวนปรึกษาคุณหมอค่ะ ดิฉันอายุ40 ปีโสดเมื่อประมาณปลายปีที่แล้วดิฉันมีอาการปวดท้องประจำเดือนมาก ปวดจนทำงานไม่ได้ จึงไปตรวจพบว่่ามีช็อคโกแลตซีสต์ขนาดประมาณ 3ซม. คุณหมอแจ้งว่าจะทำการรักษาโดยฉีดฮอร์โมนเดือนละเข็ม 9เดือน แต่ดิฉันกลัวน้ำหนักจะน้ำหนักขึ้นอีกเนื่องจากปัจจุบันเป็นโรคปวดหลังเรื้อรัง ประกอบกับว่าพบข้อมูลว่าการฉีดฮอร์โมนจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ดิฉันจึงขอปฏิเสธการรักษา และกินยาสมุนไพรไทยและจีน และปัจจุบันนี้ก็ได้หยุดทานยาแล้ว ซึ่งอาการปวดประจำเดือนปวดน้อยลงไม่ปวดมากเท่าเดิม ดิฉันอยากปรึกษาคุณหมอว่า ถ้าดิฉันไม่รักษาจะเป็นอันตรายหรือไม่ และโรคนี้สามารถรักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง และจะหายขาดหรือไม่ ขอบคุณมากค่ะ


    06-11-2016 06:01:55

    chocolate cyst มีการรักษาได้2แบบค่ะคือการผ่าตัด กับไม่ผ่าตัด 

    การผ่าตัด คือการลอกซีสต์ออก และเลาะพังผืดในกรณีมีพังผืดร่วมด้วย หรือบางคนถ้าตัวโรคเป็นเยอะมาก มีการลุกลามของโรคเข้าไปในเนื้อมดลูกด้วย อาจต้องตัดมดลูกร่วมด้วย การผ่าตัดมักจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้้เช่น ปวดมากรักษาด้วยยาไม่หาย มีอาการประจำเดือนออกมากรุนแรง ก้อนขนาดใหญ่ ถ้าเป็นซีสต์เกิน4ซม ถ้าเป็นมดลูกใหญ่เกิน12ซม. หรือถ้าขนาดเล็กแต่สงสัยว่าเนื้อเยื่อนั้นมีมะเร็งแฝงตัวร่วมด้วย

    การรักษาแบบไม่ผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่

    1.ใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการ กรณีไม่ปวดมาก

    2.ใช้ยาฮอร์โมนควบคุมซีสต์ ได้แก่ยาฉีดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือห่วงฮอร์โมน

    กรณีที่คุณกลัวเรื่องมะเร็งนั้น โดยปกติโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมจากการฉีดยาหรือกินยาคุม จะเกิดกับกลุ่มคนที่มีพันธุกรรมซึ่งตอบสนองต่อฮอร์โมน เกิดกับคนทั่วไปน้อยมากคือโอกาสเกิด 0.01%ถ้าใช้นานเกิน10ปี และมะเร็งเต้านมเป็นโรคซึ่งเกิดจากปัจจัยอื่นได้อีกมากมาย ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะใช้ฮอร์โมนหรือไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมหลังอายุ30ปี แนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เริ่มตรวจแมมโมแกรมเมื่ออายุ35ขึ้นไปทุกปีอย่างต่อเนื่องค่ะ

    ใน3ชนิดของการใช้ฮอร์โมน คือฉีด กิน ห่วงฮอร์โมนนั้น ห่วงฮอร์โมนมีผลต่อมะเร็งเต้านมน้อยที่สุด ยังไม่พลบรายงานการเกิดใะเร็งเต้านมที่สัมพันธ์กับห่วงฮอร์โมนเพราะฮอร์โมนจะถูกปล่อยจากห่วงปริมาณน้อยเฉพาะท่ี่เพื่อรักษาในอุ้งเชิงกรานเท่านั้น

    ถ้าไม่รักษาใดๆเลย ก็สามารถทำได้ แต่ต้องสังเกตุอาการตนเอง หากปวดท้องมากขึ้น ประจำเดือนมากขึ้น ควรพบแพทย์ประเมินการรักษาว่าจำเป็นต้องใช้การรักษาทางใดทางหนึ่งหรือไม่

    chocolate cyst ไม่ใช่มะเร็ง แต่ทำตัวเหมือนมะเร็งค่ะ โรคไม่มีทางหยุดนิ่ง โรคจะดำเนินไปเรื่อยๆ เมื่อตัวโรคไปถึงจุดหนึ่งที่มากขึ้นจำเป็นต้องรักษาต่อในอนาคตค่ะควรตรวจติดตามอย่างน้อยปีละครั้งค่ะ เพราะโอกาสที่ซีสต์จะเป็นมะเร็งคือ 0.1-0.3% ถ้าซีสต์โตเร็ว มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัย ต้องผ่าตัดพิสูจน์ค่ะ 

    โรคนี้ไม่หายขาดค่ะ เพราะเจริญเติบโตได้ด้วยฮอร์โมนในร่างกาย การรักษาด้วยการตัดทั้งมดลูกและรังไข่เพื่อหยุดฮอร์โมนในร่างกายทั้งหมด หรือถ้าเข้าวัยทองแล้วคือหมดฮอร์โมนแล้ว โรคจึงจะหายขาดค่ะ 

  • Q ขอสอบถามเรื่องโรคPCOSค่ะ
    04-11-2016 09:36:45

    ก่อนที่จะมีบุตร ไม่มีประจำเดือนเลย 1ปี จึงไปตรวจ พบว่าเป็นPCOS เพราะมีถุงน้ำหลายใบในรังไข่ และมีค่าฮอร์โมนLH มากกว่าFSH เกิน2เท่า จึงรักษาโดยการทำiui 1ครั้ง เพื่อมีบุตร ตอนที่บุตรอายุ 1ปี(ให้นมแม่ล้วนและยังไม่มีประจำเดือนเลย) รู้สึกว่าอาการของโรคPCOSกลับมา จึงไปอัลตราซาวด์ช่องท้อง พบว่ามีถุงน้ำหลายใบในรังไข่เช่นเดิม คุณหมอจึงให้ฉีดยาคุมกำเนิด แบบDMPA จากการฉีดDMPAเข็มแรก ผ่านไป1เดือน ประจำเดือนมาประมาน3วัน หลังจากนั้นก็ไม่มีประจำเดือนอีกเลยจนปัจจุบัน ฉีดยาคุมได้3 เข็ม ก็รู้สึกว่าน้ำหนักขึ้น มีสิว ผิวมัน ขนดกอยู่ โดยสิวขึ้นตามคอ ใบหูและแขนด้วย จึงหยุดฉีดยาคุม และมีอาการแบบนี้มาเรื่อยๆ ปัจจุบันยังให้นมบุตร อายุ1ขวบ10เดือนอยู่ อยากทราบว่ามีวิธีรักษาโรคPCOSแนะนำบ้างไหมคะ ขอบพระคุณคุณหมอมากค่ะ


    04-11-2016 15:35:43

    pcos เป็นโรคที่ไม่มีทางหายขาดค่ะ เพราะสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ ทราบโดยทฤษฎีว่าการทำงานรังไข่ถูกโปรแกรมมาพร้อมกับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนเราเองแต่แรกเกิด อาการแสดงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และไม่แน่นอนว่าจะมีอาการแสดงที่อายุเท่าไหร่ อาการแสดงจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน การรักษาคือการประคับประคองให้ได้เป้าหมายที่ต้องการตามแต่อายุของคนไข้ เช่น ถ้าต้องการมีบุตร pcosจะมีปัญหาเรื่องไข่ไม่ตกหรือไม่มีคุณภาพ ก็ใช้ยากระตุ้นไข่ ถ้าต้องการให้ประจำเดือนมาปกติ ต้องใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเข้าควบคุมรอบให้ปกติ แต่กรณีของคุณมีปัจจัยเรื่องการให้นมบุตร จะทำให้ใช้ฮอร์โมนได้จำกัด คือต้องใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเท่านั้น ซึ่งถ้าใช้ยาฉีดแล้วมีปัญหาอาจต้องลองเปลี่ยนใช้ชนิดรับประทาน ซึ่งพอจะบรรเทาอาการสิวฝ้าได้บ้าง อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะไม่หายมากนัก ต้องรอหยุดให้นมแล้วจึงใช้ฮอร์โมนต้านสิวจากยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมต่อไปค่ะ

Loading ...
Success